ปักกิ่ง, 19 ก.ค. (ซินหัว) — ผลการศึกษาของจีน ซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารเนชันแนล ไซแอนซ์ รีวิว (National Science Review) เมื่อไม่นานนี้ เปิดเผยสาเหตุเบื้องหลังปรากฏการณ์ป่าไม้บนพื้นที่สูงจำนวนมากขยับสูงขึ้น เนื่องด้วยผลพวงจากภาวะโลกร้อนตลอดช่วง 100 ปีที่ผ่านมา
คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยที่ราบสูงทิเบต สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากการสังเกตการณ์ต้นไม้และไม้พุ่ม ระยะ 8-10 ปี ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ้าง) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
การวิเคราะห์ข้างต้นพบว่าฤดูใบไม้ผลิที่อากาศร้อนขึ้น 1 องศาเซลเซียส ทำให้ต้นไม้เติบโตเร็วขึ้น 2-4 วัน แต่ไม้พุ่มเติบโตช้าลง 3-8 วัน โดยการตอบสนองต่อภาวะโลกร้อนที่แตกต่างกันนี้เป็นผลจากไม้พุ่มไวต่อสภาพแวดล้อมหนาวเย็นมากกว่าต้นไม้
คณะนักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ทั่วโลก ซึ่งผสานรวมกับแบบจำลองการเติบโตตามกระบวนการ เพื่อสำรวจตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของการเติบโตในการตอบสนองต่อภาวะโลกร้อนของแนวต้นไม้ (Treeline) บนเทือกเขาสูงทางซีกโลกเหนือ จำนวน 11 แห่ง (แนวต้นไม้เป็นระดับความสูงที่ต้นไม้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้อีก)
การวิเคราะห์ดังกล่าวพิสูจน์ว่าต้นไม้ไวต่อฤดูใบไม้ผลิที่อบอุ่นมากกว่าไม้พุ่มตามการคาดการณ์ ส่วนไม้พุ่มได้รับอิทธิพลจากการสั่งสมความเย็นมากกว่าต้นไม้ โดยตั้งแต่ปี 1990 ภาวะโลกร้อนส่งเสริมการเติบโตของต้นไม้ในแนวต้นไม้บนเทือกเขาสูง สวนทางกับไม้พุ่มที่ไม่ได้ตอบสนองต่อภาวะโลกร้อนอย่างมีนัยสำคัญ
คณะนักวิจัยระบุว่าด้วยภาวะโลกร้อน อัตราการร้อนขึ้นบนพื้นที่สูงนั้นสูงกว่าบนพื้นที่ต่ำ ซึ่งเกี่ยวพันกับฤดูการเติบโตที่สั้นลงของไม้พุ่มและฤดูการเติบโตที่ยาวขึ้นของต้นไม้ โดยการเติบโตที่ไม่ตรงกันนี้อาจเป็นข้อได้เปรียบของต้นไม้ในการเติบโตเพิ่มขึ้น การรับคาร์บอน และการยกระดับความพร้อมทางทรัพยากร ซึ่งอาจส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงแนวต้นไม้ที่ขยับสูงขึ้นในภูมิภาคภูเขาหนาวเย็น