“หมอล็อต”เตือนอันตรายเลี้ยง “กล้วย-อ้อย-สับปะรด”ช้างป่า

2018-01-11 15:50:17

“หมอล็อต”เตือนอันตรายเลี้ยง “กล้วย-อ้อย-สับปะรด”ช้างป่า

Advertisement

“หมอล็อต” แนะชาวบ้านเก็บเกลือ ปลาร้า น้ำปลาให้มิดชิดหลังพบเป็นสาเหตุช้างป่าบุกยามวิกาลเสริมธาตุอาหารในร่างกาย เตือนเลี้ยงกล้วย อ้อย สับปะรด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพช้าง แนะเก็บขยะให้ดีหลังเจอขี้ข้างมีขยะอื้อ



เมื่อวันที่ 11 ม.ค. นายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมด้วย น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือ “หมอล็อต” นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช เจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังช้างป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เจ้าหน้าที่ทหารชุดเฉพาะกิจ( ฉก.)ทัพพระยาเสือ ฉก.จงอางศึก เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนจาก WCS และชาวบ้านจิตอาสากว่า 100 คน ร่วมกันซ่อมแซมรั้วสลิงป้องกันช้างป่าที่ออกมากัดกินพืชไร่และทำลายทรัพย์สินภายในเขตชุมชน รวมทั้งซ่อมแซมบ้านพักของชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายจากช้างป่าออกมาหากินในช่วงกลางคืน


นายมานะ กล่าวว่า มีการทำกิจกรรมเก็บขยะ เศษวัตถุดิบจากผลผลิตด้านการเกษตรบริเวณที่พักอาศัยเพื่อป้องกันไม่ให้ช้างป่าบุกเข้ามาหากินในบริเวณบ้าน กิจกรรมการขุดคูป้องกันช้างป่า ที่บ้านป่าละอูและบ้านหุบปลากั้ง ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ เพื่อให้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาช้างป่าออกหากินในพื้นที่ของชาวบ้าน สร้างเสริมการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ที่ผ่านมามีช้างป่าบุกเข้ามาอย่างต่อเนื่องแต่ไม่เคยได้รับอันตรายจากการใช้วิธีการขับไล่ นอกจากนี้การแจกคิวอาร์โค้ดเพื่อให้สแกนในแอพพลิเคชั่นไลน์ เพื่อแจ้งเหตุช้างป่าประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือดีมาก


น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช กล่าวว่า ขณะนี้แจ้งเตือนและทำความเข้าใจกับประชาชนชาว ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ กรณีช้างป่าบุกเข้ามาหากินในช่วงกลางคืน โดยแจ้งให้เก็บวัตถุดิบในการปรุงอาหารทั้งเกลือ น้ำปลา และปลาร้า ให้มิดชิด เนื่องจากพบว่าช้างป่าจะเข้ามาค้นและเพื่อเสริมธาตุอาหารในร่างกายแทนการกินดินโป่งในธรรมชาติ และขอให้จัดเก็บผลผลิตทางการเกษตรและเศษขยะที่ส่งผลกระทบกับสุขภาพช้าง หลังจากมีการเก็บตัวอย่างอุจจาระไปตรวจสอบพบว่ามีเลือดเจอปน เนื่องจากในระบบย่อยอาหารมีปัญหาจากการกินขยะบางประเภท




“ที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ยังมีผู้ฝ่าฝืนคำเตือนนำกล้วย อ้อย และ สับปะรดไปกองให้ช้างกินริมถนนหนองพลับ - ป่าละอู ซึ่งถือเป็นการหวังดีที่ทำร้ายช้างป่า จากภาวะสุขภาพที่ไม่เป็นปกติเพราะขาดสมดุล จากกล้วยที่มีฟอสฟอรัสสูงทำให้กระดูกมีปัญหาโดยพบว่าช้างป่าละอูส่วนใหญ่จะมีงาข้างเดียว ส่วนอ้อยจะไปเพิ่มน้ำตาลในเลือด และสับปะรดมีการปนเปื้อนของสารเคมี ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวขณะนี้กรมอุทยานฯได้พิจารณาจัดทำโป่งเทียมและแหล่งอาหารในพื้นที่ธรรมชาติเพื่อดึงช้างป่าเข้าไปหากินในธรรมชาติแทนการออกมารบกวนพื้นที่ชุมชนซึ่งไม่มีความปลอดภัยทำให้ช้างป่ามีความเครียดจากการถูกขับไล่ รวมทั้งผลกระทบด้านสุขภาพ” นายภัทรพล กล่าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.สพ.ภัทรพล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน” ระบุว่า การเลี้ยงอาหารแก่ช้างป่า คือปฐมบทที่เกิดขึ้นกับสุขภาพช้างป่า ทำให้พฤติกรรมการกินอาหารของช้างป่าเปลี่ยนไปอย่างมาก ช้างที่ได้กินกล้วย อ้อย สับปะรด จะทำให้ช้างป่าติดใจในรสชาติ ทำให้ลดการกินพืชอาหารในธรรมชาติ ลงมากินพืชไร่ชาวบ้าน ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมามากมาย เมื่อช้างป่าได้กินอาหารที่นำมาเลี้ยงบ่อยๆ ก็จะติดใจ กินพืชอาหารในป่าลดน้อยลง ส่งผลต่อระดับคุณค่าทางโภชนาการได้ ส่งผลต่อการสร้างระดับภูมิคุ้มกันของร่างกาย


“นอกจากนี้การกินพืชอาหารจำพวก อ้อยมากๆ จะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด การทำงานของอวัยวะภายใน เช่น ตับ ตับอ่อน ไต และค่าเคมีโลหิตเสียสมดุล การกินพืชอาหารจำพวกกล้วย ซึ่งมีปริมาณของฟอสฟอรัสมากๆ ช้างก็ต้องการแคลเชี่ยมมาก เพื่อรักษาสมดุลของ แคลเซี่ยม-ฟอสฟอรัส ในร่างกาย ก็ต้องกินพืชอาหารชนิดอื่น หรือกินดินโป่งมากๆ เพื่อต้องการแคลเซี่ยม ซึ่งหากร่างการช้างที่สมดุลแคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส เสียไป จะทำให้ช้างป่าในทุกช่วงอายุมีปัญหาเรื่องกระดูก ฟัน และโครงสร้างต่างๆของร่างกายได้ บาดเจ็บและป่วยง่าย การกินพืชอาหารจำพวกสับปะรดมากๆ จะทำให้ช้างท้องอืด ถ่ายเหลว และยังเสี่ยงต่อการได้รับยาฆ่าแมลงและยาฆ่าหญ้าอีกด้วย เมื่อช้างป่ากินสับปะรดมากๆจะปัสสาวะบ่อย และเหลืองเข้ม จึงต้องการน้ำทดแทน ก็ต้องการน้ำสะอาดดื่ม และอุจจาระ ปัสสาวะที่ช้างถ่ายออกมานั้น จะมีสภาพเป็นกรดส่งผลต่อกลิ่น และสภาพดินในพื้นที่เป็นกรดไปด้วย ส่งผลต่อการเจริญเติบโตต่อพืชบางชนิดในป่า เรามาเชื่อเรื่องให้อย่างไรกับสัตว์ป่าก็ได้อย่างนั้นกันเถอะให้อาหารเท่ากับให้ความตาย"น.สพ.ภัทรพล