จากข่าวสะเทือนสังคม ผอ.รร.วัย 51 ปี ถูกร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมชู้สาวกับเด็กนักเรียนหญิง ม.2 ทำให้หลายคนอยากรู้เกี่ยวกับผู้นิยมมีเพศสัมพันธ์กับเด็กสาวคราวหลาน ซึ่งจิตแพทย์เรียกว่า“โรคใคร่เด็ก” หรือ “พีโดฟีเลีย”
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะจิตแพทย์ ได้ให้สัมภาษณ์ "นิว18" เกี่ยวกับ“โรคใคร่เด็ก” ว่า เป็นความผิดปกติทางเพศ ซึ่งเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่จะต้องเป็นความลงตัวของ 2 ฝ่าย ไม่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพ กระทบต่อการงาน สังคม และกฎหมาย กรณีมีเพศสัมพันธ์กับเด็กถือว่าผิดกฎหมาย คนที่มีความผิดปกติตรงนี้ไม่ได้มีความสุขทางเพศแบบปกติ ทั้งนี้มักพบว่า คนที่เป็น "โรคใคร่เด็ก" มักพบร่วมกับความผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น มีปัญหาอารมณ์ เป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล มีปัญหาในการเข้าสังคม หวาดกลัวสังคม บางรายอาจใช้สารเสพติดร่วมด้วย
ในคนกลุ่มนี้ความสุขทางเพศ มักจะผูกพ่วงกับความรู้สึกเหนือกว่าการควบคุม รู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่ เหมือนได้ปลดปล่อยความโกรธ ลงไปยังผู้ที่ด้อยกว่า ก็คือ เด็ก มีงานวิจัย พบว่า คนที่มีภาวะเช่นนี้ มักจะเคยตกเป็นเหยื่อของการถูกทำร้ายมาก่อน จนกระทั่งสะสมความเจ็บปวด ความโกรธแค้น ไม่สามารถมีความสุขทางเพศในแบบคนทั่วไปได้ การมีเซ็กซ์กับคนในวัยเดียวกันกลับไม่ทำให้มีความสุขทางเพศ แต่พอเจอคนที่เป็นเด็กกว่าจะปลดปล่อยอารมณ์ออกมาได้
นอกจากนี้ในคนกลุ่มนี้ อาจมีประวัติถูกทำร้ายร่างกาย หรือถูกทารุณทางเพศในวัยเด็กมาก่อน อาจจะถูกทุบตี ถูกละเลยทอดทิ้ง คือ พีโดฟีเลีย มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงในเด็ก กาลครั้งหนึ่งเขาอาจจะเคยถูกทำร้ายมาก่อน พอเติบโตจะกลายสภาพเป็นผู้ทำร้าย และกลายเป็นวงจรเลวร้ายไม่มีที่สิ้นสุด
“โรคใคร่เด็ก” ส่วนมากพบในผู้ชาย เพราะการแสดงออกทางเพศ รูปแบบความเหนือกว่ามักจะเป็นบทบาทของผู้ชาย
สำหรับเหยื่อของกลุ่มนี้ จะเป็นเด็กเล็กอายุ 4-5 ขวบยังไม่เข้าโรงเรียน แต่เนื่องจากโอกาสเข้าถึงเด็กกลุ่มนี้มีน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่พ่อแม่ผู้ปกครองจะดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้นเหยื่ออาจโตขึ้นมาหน่อยคือเด็กวัยเรียนอายุ 7-8 ขวบ อาจถูกล่อลวงด้วยขนมหรือสิ่งของ ยิ่งเด็กที่พ่อแม่ปล่อยปละละเลยก็อาจจะถูกล่อลวงได้ง่าย
ส่วนการมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก ม.1 ม. 2 กรณีเช่นนี้อาจจะไมใช่พีโดฟีเลียก็ได้ แต่อาจจะเป็นกลุ่มที่ชอบหญ้าอ่อน สำหรับ อุบัติการณ์ของคนกลุ่มนี้ ต้องบอกว่า ยากต่อการสำรวจ ไม่มีคนบอกว่าเป็นโรคใคร่เด็ก แต่ถ้าดูจากข่าวจะพบว่า คนกลุ่มนี้จะแทรกซึมทุกอาชีพในสังคม ยิ่งถ้ามีเงิน มีตำแหน่งก็จะสามารถใช้เงินปิดปาก หรือเป็นทางออกทางเพศได้ พอมีปัญหาก็บอกว่าพร้อมจะเลี้ยงดู
ถามว่ารักษาได้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่า รัักษาได้ แต่ความยุ่งยาก คือ ผู้ป่วยมักจะไม่ร่วมมือ ไม่พร้อมใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะนั่นคือความคุ้นชิน ความยึดติดว่านี่คือสิ่งระบายทุกข์ สร้างสุขให้ตัวเอง แต่ถ้าได้รับแรงกดดันเข้าถึงกระบวนการรักษา ก็สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ ทั้งนี้คงต้องดูว่ามีโรคอื่นด้วยหรือไม่ นอกจากนี้อาจใช้จิตบำบัด ปรับพฤติกรรม ปรับเปลี่ยนความคิด ปรับชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันคนแวดล้อมต้องเข้าใจป้องปราม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีกด้วย