สนช.ผ่านวาระ1 รับหลักการ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

2017-04-21 15:25:23

สนช.ผ่านวาระ1 รับหลักการ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

Advertisement

สนช.ผ่านวาระ 1 รับหลักการพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ด้วยเสียงเห็นชอบ 175 โดยประธาน กรธ.พร้อมรับคำชี้แนะจาก สนช.จากเห็นว่าบทลงโทษหากเห็นว่ารุนแรงเกินไป




การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ช่วงบ่ายวันนี้เป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. เป็นผู้เสนอ โดยมีประธานและคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เข้าร่วมชี้แจงหลักการและเหตุผลพร้อมทั้งตอบข้อซักถามต่อที่ประชุม



โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวนำเสนอหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่า โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้บุคคลมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมืองที่ต้องกำหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งและกำหนดมาตรการให้สามารถดำเนินการโดยอิสระไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมือง รวมทั้งจะต้องมีมาตรการกำกับดูแลมิให้สมาชิกของพรรคการเมืองกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง  กรณีจึงสมควรกำหนดวิธีการจัดตั้งพรรคการเมืองและการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

หลังจากนั้นสมาชิก สนช.ได้อภิปรายแสดงความเห็นถึงการจัดตั้งพรรคการเมืองที่ระบุว่า จัดตั้งยากแต่ยุบง่าย ว่า ขัดกับหลักการประชาธิปไตย ที่ว่าพรรคการเมืองควรเกิดได้ง่ายแต่ยุบยาก และไม่ควรกำหนดหลักเกณฑ์ควบคุมพรรคการเมืองมากเกินไป รวมถึงการเก็บค่าสมาชิกพรรคที่จะเป็นการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนตามหลักการประชาธิปไตย พร้อมทั้งกลไกที่จะทำให้พรรคการเมืองพัฒนาไปสู่สถาบันทางการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง โดยที่ผ่านมาประชาชนเบื่อการเมือง ที่ผ่านมาประเทศเดินถอยหลังเพราะการเมืองเป็นตัวถ่วง และต้องการเห็นการปฏิรูป ซึ่งแม้รัฐธรรมนูญจะมีบทบัญญัติที่เข้มข้นแต่นักการเมืองก็ยังคงหาวิธีหลีกเลี่ยง อาทิ การจ่ายค่าสมาชิกพรรคให้บุคคลอื่น  นอกจากนี้สมาชิก สนช.ยังเสนอการปรับรูปแบบการมีส่วนร่วมของประชาชนมากว่าการจ่ายเงิน อาทิ ให้เป็นโฆษกในการชี้แจงนโยบายพรรคต่อชุมชน ขณะที่ นายมีชัย ได้ชี้แจงถึงการยุบพรรคการเมืองจะเกิดขึ้นเฉพาะในกรณีร้ายแรง จากการสอบถามความคิดเห็นประชาชน พบว่า ประชาชนมากกว่าร้อยละ 78 เห็นควรให้เก็บค่าสมาชิกพรรค ซึ่งแสดงให้เห็นความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน   ส่วนเรื่องการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาการเมืองให้กับพรรคในอนาคตจะต้องคำนึงถึงค่าบำรุงที้พรรคได้รับจากสมาชิก กับ จำนวนคะแนนเสียงมี่พรรคได้รับจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะนำมาเป็นฐานในการคำนวณเงินให้กับพรรคการเมือง พร้อมปรับปรุงบทลงโทษหากสมาชิก สนช.เห็นว่ามีการลงโทษที่แรงเกินไปภายหลังการพิจารณาเสร็จสิ้น สนช.ได้มีมติรับหลักการในวาระที่ 1 ด้วยเสียงเห็นชอบ 175 งดออกเสียง 3 โดยหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ 31 คน ซึ่งมีสัดส่วนของ
กรรมการที่มาจาก สนช. 25 คน , ส่วน กกต. ครม. , คณะกรรมการกฤษฎีกา และ สปท. มีหน่วยงานละ 1 คน และตัวแทนจาก กรธ.อีก 2 คน กำหนดเวลาการแปรญัตติ 7 วัน และดำเนินการ 45 วัน ตามกำหนดเวลาในรัฐธรรมนูญที่ สนช. ตั้งพิจารณาร่างกฎหมายลูกฉบับนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน