ออเจ้าตามข้ามา...10 อันดับ ละครย้อนยุคในดวงใจ

2018-03-01 17:30:01

ออเจ้าตามข้ามา...10 อันดับ ละครย้อนยุคในดวงใจ

Advertisement

แม้ว่าจะผ่านมากี่ปีกี่สมัยก็ตาม พวกเราชาวไทยก็ยังคงนิยมรับชมละครย้อนยุคที่นำเสนอวิถีความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมโบราณอย่างไทยแท้ๆ ออกมาให้ได้รับรู้รับชมกัน ซึ่งบทละครบางเรื่องอาจจะแทรกมุกตลกขบขัน รวมถึงเกร็ดความรู้ดีๆ เพื่อให้เข้ากับรสนิยมที่เปลี่ยนไปตามสังคมในยุคนั้นๆ ดังเช่นขณะนี้ที่ละครเรื่อง "บุพเพสันนิวาส" กำลังมาแรงแซงทุกโค้งโกยเรตติ้งทิ้งห่างละครช่องอื่นๆ อย่างถล่มทลาย ซึ่งละครย้อนยุคสุดละเมียดที่จัดทำขึ้นมานั้นมีมากมายหลายหลากเสียเหลือเกิน แต่ถ้าเป็นละครที่โดนจริตถูกฤทัยเราๆ ท่านๆ ล่ะ มันมีเรื่องอะไรกันบ้าง วันนี้เราทีมข่าวนิว 18 จะพาทุกท่านย้อนดูละครดีๆ ที่ไม่ได้มีแค่ฉากพื้นหลังเป็นเมืองโบราณเท่านั้น กับช่วง Top 10 Ranking by new 18 ตามข้าพเจ้ามาค่ะ



คุณหลวง อัครเทพวรากร - มณีจันทร์ หรือ เมณี่



1. ทวิภพ พ.ศ. 2537
บทประพันธ์ : ทมยันตี
บทโทรทัศน์ : จิตราภา
ผลิตโดย : ดาราวิดีโอ



ผู้กำกับ : จรูญ ธรรมศิลป์
ออกอากาศ : วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม 2537
นักแสดงนำ : ศรัณยู วงษ์กระจ่าง - สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์



“ทวิภพพันผูกใจ เชื่อมรักเราไว้นิจนิรันดร” มณีจันทร์ หรือ เมณี่ นางเอกของเรื่องเป็นบุตรีของ เอกอัครราชทูตไทย ที่บิดา มารดาต้องไปอยู่ต่างบ้าน ต่างเมือง ตัว “เมณี่” เองได้ซื้อกระจกบานหนึ่งมา และต่อมาได้พบว่า กระจกบานนั้น สามารถพาเธอย้อนกลับอดีตไปในยุคของ รัชกาลที่ 5 ได้ และได้โผล่ไปที่เรือนของ ”คุณหลวง อัครเทพวรากร” ข้าหลวงประจำกรมเจ้าท่า ทำให้บ่อยครั้งที่ตัว “เมณี่” หายไปจากบ้านอย่างไร้ร่องรอย เป็นเหตุให้เพื่อนสนิท อันมี กุลวรางค์, ไรซ์ (ตรอง), ไรวัติ (หนุ่มที่มาติดพัน) ต้องเดือดร้อนตามหาตัวกัน



การปรากฏตัวของมณีจันทร์ สร้างความประหลาดใจให้กับทุกคนในบ้านคุณหลวงเป็นอย่างมาก แต่ด้วยความฉลาดของมณีจันทร์ ทำให้คนที่ได้พบเห็นอดที่จะรักเธอไม่ได้ ยิ่งมณีจันทร์เดินทางข้ามภพบ่อยครั้งขึ้น ในขณะเดียวกัน เมื่อ “เมณี่” หรือ มณีจันทร์ ได้ทำความคุ้นเคยกับ คุณหลวงอัครเทพวรากร และ คุณหญิงแสร์ มารดาของคุณหลวงแล้ว จึงได้รู้ว่าที่กระจกนำตนกลับมาในอดีตนั้น เธอก็ยิ่งรู้สึกรักและผูกพันกับคุณหลวงและคนที่บ้านคุณหลวงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทุกคนรวมทั้งมณีจันทร์ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า ทำไมเธอจึงเดินทางข้ามกาลเวลามาที่นี่ นอกเหนือจากที่จะมาพบกับเนื้อคู่ ที่แท้จริงในอดีตแล้ว ยังต้องมาช่วยกอบกู้สถานการณ์ของประเทศสยาม ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงคับขัน ที่ทางประเทศ “ฝรั่งเศส” กับ ประเทศ “อังกฤษ” ที่อยู่ในยุคล่าเมืองขึ้น กำลังจะเอาประเทศสยามเป็นแดนกันชน และลงท้ายจะแบ่งแยกประเทศออกโดยเอาแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแดนปักปันเขต



มณีจันทร์ หรือ เมณี่ จึงต้องใช้ภูมิความรู้ทางด้านภาษา ช่วย “คุณหลวงอัครเทพวรากร” และ “เจ้าคุณวิศาลคดี” แก้เกมของประเทศนักล่าเมืองขึ้นทั้งสอง ในขณะเดียวกันเธอ ก็เริ่มผูกพันกับอดีตภพ และความรักที่มีต่อคุณหลวง อัครเทพวรากร มากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ปัญหาใหญ่ของบ้านเมืองจะต้องเร่งแก้ไข มณีจันทร์เองก็มีอีกปัญหาหนึ่งที่รอคอยให้เธอตัดสินใจเช่นกัน กระจกซึ่งเป็นประตูเชื่อมกลางเวลาจะมีรอยร้าวเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่เธอผ่านเข้าออก มันจะต้องแตกลงในวันหนึ่ง นั่นหมายถึงว่าเธอจะไม่สามารถเดินทางข้ามผ่านเวลาได้อีกต่อไป และเมื่อวันนั้นมาถึง มณีจันทร์จะตัดสินใจเช่นไร ระหว่างการอยู่ในภพอดีตกับคุณหลวง ผู้ที่รักเธอสุดหัวใจ หรือการกลับไปยังภาพที่เธอจากมา กลับไปเป็น “เมณี่” สาวทันสมัยแห่งโลกปัจจุบัน ที่มีแม่ผู้เป็นที่รักรอคอยอยู่





คุณเปรม - แม่พลอย

2. สี่แผ่นดิน พ.ศ. 2534
บทประพันธ์ : หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
ผลิตโดย : ไอ แอม
ผู้กำกับ : สุประวัติ ปัทมสูต



ออกอากาศ : วันพุธที่ 1 พฤษภาคม ถึง วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2534
นักแสดงนำ : ฉัตรชัย เปล่งพานิช -  จินตหรา สุขพัฒน์
เพลงประกอบละคร : พริม ปรีชาสถิตย์



สี่แผ่นดิน เป็นวรรณกรรมของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช มีเนื้อหาอิงประวัติศาสตร์ไทยในช่วงรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 8 นับเป็นวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเล่มหนึ่งของไทย โดยเขียนเป็นตอนๆ ลงหนังสือพิมพ์สยามรัฐ รายวันระหว่างปี 2494-2495 ติดต่อกันเป็นเวลาปีเศษ ต่อมาได้รวบรวมพิมพ์เป็นเล่มขึ้นครั้งแรกในปี 2496

ช่วงชีวิตของแม่พลอย กินเวลาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 8 โดยแม่พลอยเป็นตัวแทนของสาวชาววังในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีชีวิตอยู่ใกล้ชิดใต้เบื้องยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชีวิตของแม่พลอยมีความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างลึกซึ้ง และแม่พลอยได้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ



การใช้ชีวิตของแม่พลอย และเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของแม่พลอยนั้น ท่านคึกฤทธิ์ได้ใช้สำนวนการเขียนวรรณกรรมที่น่าติดตามเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์บ้านเมืองไทยแต่ละยุคสมัยไปพร้อมๆ กับสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของไทยตลอดทั้งเล่ม แทรกด้วยเรื่องราวความรัก ทั้งของแม่ที่มีต่อลูก ทั้งความรักของครอบครัว ความรักในแผ่นดินไทย และรวมทั้งมุมมองที่แตกต่างต่อการพัฒนาชาติบ้านเมืองไทยในตัวละครแต่ละตัว การใช้เหตุการณ์จริงทางประวัติศาสตร์เป็นฐานในการเล่าเรื่อง ทำให้วรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน มีความสมจริง และตัวละครทุกตัว ต่างเป็นตัวแทนของบุคคลในสมัยนั้น ก่อให้เกิดความนิยมอย่างรวดเร็ว



อีเย็น - เจ้าคุณ (พระยาสีหโยธิน) - คุณหญิงแย้ม (จากซ้ายไปขวา)

3. นางทาส พ.ศ. 2536
แพร่ภาพ : ทุกวันศุกร์ - เสาร์ - อาทิตย์ทางช่อง 7 สี
ผลิต : ดาราวิดีโอ
เขียนบท : ศัลยา
กำกับการแสดง : ไพรัช สังวริบุตร, จรูญ ธรรมศิลป์
นำแสดงโดย : ลิขิต เอกมงคล, มนฤดี ยมาภัย, เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์



นางทาส (หรือ นางทาษ) เป็นเรื่องสั้นขนาดยาวของ วรรณสิริ ผู้ประพันธ์เรื่อง วนิดา และ นางครวญ ตีพิมพ์ครั้งแรกอยู่ใน รวมเรื่องสั้นชุด "สร้อยนพเก้า" ของวรรณสิริ และได้รับความนิยม ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายครั้ง พร้อมกับมีการแต่งเติมเรื่องราวเพิ่มเติม ในการพิมพ์ครั้งต่อมา ได้เปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น รวมเรื่องสั้นชุด "นางทาส"



เย็น
หญิงสาวที่ถูกพ่อนำมาขายขัดดอกจนกลายเป็นนางทาสมีโชคชะตาชีวิตขึ้นลงดังคลื่นน้ำที่ไม่มีวันจบสิ้น เย็นเป็นผู้มีจิตใจตั้งมั่น ซื่อตรง เก็บงำความลับไว้ ตามสัญญาที่ออกจากปาก ยอมที่จะทนทุกข์ทรมาน แม้นจำต้องพรากบุตรในไส้ แต่ก็สุขที่เห็นบุตรมีความสุข ตราบเท่าชีวิตจะอยู่บนโลก ใจยอมเป็นทาสตลอดไปแม้กายจะเป็นไทแล้วก็ตาม นางทาสผู้ซื่อสัตย์จนวันสุดท้ายของชีวิต



พระยาไกรสีห์ราชภักดี (ขุนไกร)  - แม่หญิงดาวเรือง

4. สายโลหิต พ.ศ. 2538 
สร้างโดย : สุรางค์ เปรมปรีดิ์
เขียนโดย : ศัลยา
กำกับโดย : สยาม สังวริบุตร
แสดงนำโดย : ศรราม เทพพิทักษ์, สุวนันท์ คงยิ่ง



สายโลหิต
เป็นผลงานนวนิยายของโสภาค สุวรรณ ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกลงในนิตยสารสตรีสาร เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ชาติไทยปลายกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุง ข้าศึกเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะการไม่เตรียมพร้อมและประมาทของพลเมือง ความขัดแย้งสืบเนื่องมาจากความไม่สามัคคี การทำลายฆ่าฟันกันเอง อันเป็นผลให้คนดีมีฝีมือลดน้อยลง เป็นสาเหตุสำคัญที่อาจเป็นอุทาหรณ์สอนใจ ไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง แม้ว่าจะต่างวาระก็ตาม




สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ผู้ถือลิขสิทธิ์นวนิยายในนามส่วนตัวนำมาจัดทำเป็นละครโทรทัศน์ ออกอากาศครั้งแรกทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เมื่อปี พ.ศ. 2538 เขียนบทโทรทัศน์โดยศัลยา ผลิตโดยบริษัทดาราวิดีโอ กำกับการแสดงโดยสยาม สังวริบุตร นำแสดงโดย ศรราม เทพพิทักษ์ รับบท ขุนไกร, สุวนันท์ คงยิ่ง รับบท ดาวเรือง และศตวรรษ ดุลยวิจิตร รับบท หมื่นทิพเทศา / หมื่นทิพ ออกอากาศทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ เวลา 20.30 น. ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 - 7 มกราคม พ.ศ. 2539 จำนวนตอนออกอากาศ 27 ตอน




อนึ่ง เนื่องจากละครชุดสายโลหิตฉบับปี พ.ศ. 2538 ได้รับความนิยมจากผู้ชมสูงมาก ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 จึงได้นำละครชุดนี้มาออกอากาศซ้ำอีกหลายครั้ง



นวนิยายเรื่องสายโลหิตได้รับการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์แล้ว 3 ครั้ง และอยู่ในระหว่างการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ 1 ครั้ง โดยครั้งแรกออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในปี พ.ศ. 2529 สร้างโดยสุพรรณ บูรณะพิมพ์ นำแสดงโดยฉัตรชัย เปล่งพานิช รับบท ขุนไกร, อาภาพร กรทิพย์ รับบท ดาวเรือง, นพพล โกมารชุน รับบท หมื่นทิพเทศา / หมื่นทิพ และ อำภา ภูษิต รับบท แม่หญิงเยื้อน 



5. ญาติกา พ.ศ. 2539
สร้างโดย : บริษัท ดาราวิดีโอ จำกัด
เขียนโดย บทประพันธ์ : โสภาค สุวรรณ
บทโทรทัศน์ : ศัลยา
กำกับโดย : จรูญ ธรรมศิลป์
แสดงนำ : สวิช เพชรวิเศษศิริ, กุลสตรี ศิริพงษ์ปรีดา, นุติ เขมะโยธิน, กมลชนก โกมลฐิติ, ยุทธพิชัย ชาญเลขา, กัญญารัตน์ จิรรัชชกิจ, มยุริญ ผ่องผุดพันธ์, ดวงดาว จารุจินดา และ สุภาภรณ์ คำนวณศิลป์



ญาติกา
เป็นผลงานนวนิยายของโสภาค สุวรรณ นวนิยายเรื่องนี้ดำเนินเรื่องต่อจากสายโลหิต โดยผ่านตัวละครเป็นรุ่นๆ จากรุ่นพ่อบวรกับแม่นวล ที่ความรักมีอุปสรรคมาก มาถึงรุ่นของแม่สร้อยทองและรุ่นลูกชายของแม่สร้อยทองที่ออกตามหาดาบจนไปถึงพม่า ดาบที่ตกทอดมาตั้งแต่รุ่นขุนไกรในสายโลหิต


ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต

นวนิยายดังกล่าวได้รับการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 โดยบริษัท ดาราวิดีโอ เมื่อปี พ.ศ. 2539 บทโทรทัศน์โดยศัลยา นำแสดงโดย ยุทธพิชัย ชาญเลขา รับบท บวร กัญญารัตน์ จิรรัชชกิจ รับบท แม่นวล นุติ เขมะโยธิน รับบท ชวาล กมลชนก โกมลฐิติ รับบท สร้อยทอง สวิช เพชรวิเศษศิริ รับบท ชวาลา และ กุลสตรี ศิริพงษ์ปรีดา รับบท ม่านแก้ว ออกอากาศต่อจากสายโลหิต ทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ เวลา 20.30 น. ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม - 23 มีนาคม พ.ศ. 2539


ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต



6. รัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2539 
สร้างโดย : ดาราวิดีโอ
เขียนโดย : ว.วินิจฉัยกุล
กำกับโดย : จรูญ ธรรมศิลป์
ผู้อำนวยการสร้าง : สุรางค์ เปรมปรีดิ์
ฝ่ายบริหาร : ศัลยา สุขขะนิวัตติ์
เครือข่าย/ช่อง สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7
การแพร่ภาพ : การออกอากาศแรก 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 – 5 มกราคม พ.ศ. 2540



รัตนโกสินทร์ เป็นละครโทรทัศน์ไทยแนวย้อนยุคทางประวัติศาสตร์ สมัยรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 ซึ่ง ว.วินิจฉัยกุล ผู้ประพันธ์ได้นำเค้าโครงบทประพันธ์มาจากบันทึกส่วนตัวของข้าราชการผู้หนึ่งที่เล่าถึงชีวิตส่วนตัวของปู่ของท่านตั้งแต่ยังเด็ก หนังสือได้รับรางวัลดีเด่นประเภทนวนิยายจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2530




โดยนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ครั้งแรกทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ผลิตโดยบริษัท ดาราวิดีโอ จำกัด เขียนบทโทรทัศน์โดยศัลยา กำกับการแสดงโดยจรูญ ธรรมศิลป์ นำแสดงโดย เอกรัตน์ สารสุข, กุลสตรี ศิริพงษ์ปรีดา, รชนีกร พันธุ์มณี, อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร, ดวงดาว จารุจินดา, มนตรี เจนอักษร ออกอากาศครั้งแรกวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 - 5 มกราคม พ.ศ. 2540



7. ลูกทาส พ.ศ. 2557
ลูกทาส เป็นวรรณกรรมอมตะอิงประวัติศาสตร์ เป็นผลงานที่โดดเด่นอีกชิ้นหนึ่งของ รพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2506 ในหนังสือพิมพ์รายปักษ์ เดลิเมล์วันจันทร์ เล่าถึงชีวิตลูกทาสที่ดิ้นรนต่อสู้จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยา และ ได้ครองคู่กับหญิงสาวสูงศักดิ์ที่หมายปอง



ลูกทาส ถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2508 ของคณะนาฏศิลปสัมพันธ์ ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม โดย สัมพันธ์ พันธุ์มณี ได้ติดต่อผู้ประพันธ์ (ซึ่งขณะนั้นติดคุกคดีกบถเสรีภาพ) เพื่อขอให้จดทำบทสำหรับแสดงทางทีวี โดยส่งงานออกมาทางปิ่นโตกับข้าว ตามด้วยกมลศิลป์ภาพยนตร์สร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง และยังได้รางวัลตุ๊กตาทองบทประพันธ์ยอดเยี่ยมกับรางวัลเพลงประกอบในงานตุ๊กตาทองประจำปี พ.ศ. 2508 ได้รับความนิยมมากเช่นเดียวกัน หลังจากนั้นมีการนำมาสร้างเป็นภาพนยตร์และละครโทรทัศน์อีกหลายครั้ง




โดยสร้างเป็นละครโทรทัศน์ทาง สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
สร้างโดย : ทีวีซีน
จัดโดย : ณัฏฐนันท์ ฉวีวงษ์
กำกับการแสดงโดย : ธรธร สิริพันธ์วราภรณ์
บทโทรทัศน์โดย : บทกร
นำแสดงโดย : ภูภูมิ พงศ์ภาณุ รับบท แก้ว, ราณี แคมเปน รับบท น้ำทิพย์
ออกอากาศ : ทุกวันจันทร์-อังคาร เวลา 20.15 - 22.45 น.
ออกอากาศเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557 – 14 เมษายน พ.ศ. 2557



แก้ว - น้ำทิพย์



8. แต่ปางก่อน พ.ศ. 2548
บทประพันธ์ : แก้วเก้า
บทโทรทัศน์ : ยิ่งยศ ปัญญา, ไขนภา เจียรบุตร
กำกับการแสดง : ชนะ คราประยูร
ผลิตโดย : บริษัท เมคเกอร์ กรุ๊ป จำกัด
นักแสดง :
ศรราม เทพพิทักษ์ รับบท หม่อมเจ้ารังสิธร / จิราคม
แอน ทองประสม รับบท เจ้านางน้อย / ราชาวดี / อันตรา
ชาตโยดม หิรัณยัษฐิติ รับบท ม.ร.ว.จิรายุส
สกาวใจ พูลสวัสดิ์ รับบท หม่อมเจ้าหญิงวิไลเรขา
เมย์ เฟื่องอารมย์ รับบท ม.ร.ว.สวรรยา
นัฏฐา ลอยด์ รับบท กาบทอง
รัชนก แสงชูโต รับบท ถวิล



แต่ปางก่อน เป็นนวนิยายไทยแนวย้อนยุค-ข้ามเวลา ที่สร้างจากบทประพันธ์ของ แก้วเก้า (นามปากกาของ คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์) มีการสร้างเป็นละครโทรทัศน์มาแล้วถึงสองครั้ง คือ ในปี พ.ศ. 2530 และ พ.ศ. 2548 โดยออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 ส่วนในปี พ.ศ. 2560 ได้มีการนำมาสร้างใหม่อีกครั้ง โดยออกอากาศทาง ช่องวัน และมีเพลงนำละครที่แต่งโดย วิรัช อยู่ถาวร จนกลายเป็นเพลงฮิตตลอดกาล






เจ้าแม้นเมือง - เจ้าศุขวงศ์ (เจ้าน้อย) - เจ้ามิ่งหล้า
(จากซ้ายไปขวา)

9. รากนครา พ.ศ. 2543
สร้างโดย : ดาราวิดีโอ
บทประพันธ์ : ปิยะพร ศักดิ์เกษม
บทโทรทัศน์ : ศัลยา
กำกับโดย : จรูญ ธรรมศิลป์
แสดงนำ : พัชราภา ไชยเชื้อ, ดนุพร ปุณณกันต์, วรนุช ภิรมย์ภักดี



รากนครา ถูกนำมาดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2543 ออกอากาศทาง ช่อง 7 ผลิตโดย บริษัท ดาราวิดีโอ จำกัด บทโทรทัศน์ ศัลยา สุขะนิวัตติ์ กำกับการแสดงโดย จรูญ ธรรมศิลป์ นำแสดงโดย ดนุพร ปุณณกันต์ , พัชราภา ไชยเชื้อ, วรนุช วงษ์สวรรค์ ออกอากาศทุกวันศุกร์ - อาทิตย์ เวลา 20.20 - 22.20 เริ่ม 6 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543



ครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2560 ออกอากาศทาง ช่อง 3 ผลิตโดยบริษัท แอคอาร์ต เจเนเรชั่น บทโทรทัศน์โดย ยิ่งยศ ปัญญา กำกับการแสดงโดย พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง นำแสดงโดย ณฐพร เตมีรักษ์, ปริญ สุภารัตน์, นิษฐา จิรยั่งยืน, ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต ใช้ภาษาเหนือ (คำเมือง หรือ ภาษาล้านนา) ในการดำเนินเรื่องทั้งหมด โดยยึดถือตามสำเนียงมาตรฐานเชียงใหม่ และชุดสำหรับสวมใส่ในการแสดงได้มีการอิงตามประวัติศาสตร์ของจริงที่เห็นและปรากฏตามดินแดนต่างๆ ในเรื่อง ออกอากาศทุกวันจันทร์-อังคาร เวลา 20.20 - 22.50 น. เริ่มตอนแรกวันอังคารที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2560 - 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560 


10. ร่มฉัตร พ.ศ. 2538 
สถานีออกอากาศ : ช่อง 3
ผู้จัดละคร : บริษัท ฮูแอนด์ฮู จำกัด
บทโทรทัศน์ : ยิ่งยศ ปัญญา
กำกับการแสดง : ชูศักดิ์ สุธีรธรรม



ร่มฉัตร เป็นละครโทรทัศน์ แนวพีเรียดอิงประวัติศาสตร์เล่าถึงชีวิตของสตรีชื่อ แม้นวาด บนแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 - ปัจจุบัน จากบทประพันธ์อันทรงคุณค่าของ ทมยันตี หรือ วิมล เจียมเจริญ นวนิยายเรื่องนี้ถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ 3 ครั้ง



เป็นเรื่องราวที่จะกล่าวถึงในยุคสมัยของแม้นวาด หญิงสาวที่ถูกส่งเข้ามาในวังตั้งแต่ยังเป็นเด็กตามคำสั่งเสียของแม่ วาด เป็นเด็กสาวที่หัวอ่อนและมีความขยันเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เธอจึงเป็นที่โปรดปรานต่อเสด็จและคุณหยดเป็นอย่างมากเลยทีเดียว ซึ่งการใช้ชีวิตในวังของวาดมีเพื่อนสนิทชื่อ กลิ่น ที่เป็นหลานสาวของคุณหยด กลิ่นไม่ถูกกับอุษา ซึ่งเป็นลูกของขุนนางระดับสูงในวัง จึงพานทำให้อุษาไม่ชอบวาดขึ้นมาอีกคน ในขณะที่พี่ชายของอุษาชื่ออรรถ กลับมาเมืองไทยหลังจากไปเรียนที่เมืองนอก เขาเห็นวาดในงานวัดก็รู้สึกชอบพอเป็นอย่างมาก ประกอบกับได้มาเจอวาดในวังซึ่งเธอต้องมาจัดดอกไม้ อรรถจึงพยายามสานสัมพันธ์และขอวาดแต่งงาน ด้วยการให้ผู้ใหญ่ไปสู่ขออย่างเป็นทางการทั้งสองจึงได้แต่งงานด้วยกัน และย้ายมาอยู่นอกวัง ซึ่งแม้ว่าวาดไม่คุ้นชินกับวิถีชีวิตนอกวัง แต่เธอก็ต้องพยายามปรับตัวให้ได้



ทั้งชีวิตของวาดมีทั้งความรุ่งเรืองและอุปสรรคปัญหามากมาย แต่เธอก็ไม่เคยหวั่นไหวหรือตื่นตระหนกกับมันสักเท่าใดนัก เพราะสิ่งที่สามารถยึดเหนี่ยวจิตใจของวาดให้ร่มเย็นได้ตลอด นั่นก็คือ ”ร่มฉัตร” ที่เทิดทูนไว้เหนือหัว แม่วาดดำเนินชีวิตผ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนกระทั่งในปัจจุบันที่เธอมียศเป็นถึงท่านผู้หญิง แต่ก็ไม่เคยหยิ่งทะนงในเกียรติยศของตนเอง ยังคงใช้ชีวิตที่เรียบง่ายและเป็นที่รักของผู้คนมากมายเพราะเธอมีร่มฉัตรที่ทำให้รมเย็นเป็นสุข จนกระทั่งได้เสียชีวิตลง



ปิดท้ายด้วยความรู้ใหม่ ที่ใครๆ อาจยังไม่เคยรู้ คือคำว่า "ออเจ้า" หมายถึง เจ้า หรือ เธอ เพียงแต่เอาไว้เรียกคนที่อายุน้อยกว่า อาวุโสน้อยกว่า หรือคนที่เป็นเพื่อนกันก็ได้ เป็นคำโบราณสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีบอกไว้อยู่ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ซึ่งเป็นจดหมายเหตุพงศาวดารที่กล่าวถึงราชอาณาจักรสยามในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. ๒๒๓๐ โดย มองซิเออร์ เดอ ลา ลูแบร์ อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาทูลพระราชสาส์น ณ ประเทศสยาม