ผลพวงจากกระแส “บุพเพสันนิวาส” ละครสุดฮอตในเวลานี้ กระทั่งเกิดปัญหาหนังสือนิยายต้นเรื่องขายเกลี้ยงตลาด มาล่าสุดถูกก็อปปี้โพสต์เฟซบุ๊กยกเล่ม แชร์กว่าครึ่งแสนครั้ง จน "รอมแพง" นักเขียนเจ้าของบทประพันธ์โอด “หมดแรง” ก่อนเดินหน้าเอาเรื่องเพจขี้ก๊อปจนถึงที่สุด
โดยเพจเฟซบุ๊กดักกล่าวมีชื่อชวนเข้าใจผิดว่า "บุพเพสันนิวาส By รอมแพง" ซึ่งล่าสุดได้ปิดเพจไปเรียบร้อยแล้ว กระนั้น “รอมแพง” ก็ยืนยันว่าจะดำเนินการให้ถึงที่สุด ยอดแชร์เท่าไหร่เอาราคาปกคูณ ตามด้วยค่าเสียเวลาของทางสำนักพิมพ์ ก็ต้องจ่ายเท่านั้น คำนวณคร่าวๆ น่าจะแตะหลัก 20 ล้านบาทกันเลยทีเดียว!
แต่เดี๋ยวก่อน! ถ้าจะว่ากันตามกฎหมายแล้ว ต่อให้ “รอมแพง” ไม่ดำเนินฟ้องร้อง แฟนเพจดังกล่าวก็ไม่ใช่ว่า ลบแล้ว ขอโทษแล้ว ถือว่าหายกัน เพราะถ้ากรณีแบบนี้ถือว่าผิดกฎหมายฐานละเมิดลิขสิทธิ์ และมีสิทธิ์โดนปรับอ่วมอยู่แล้ว ซึ่ง นิว 18 ขอนำประเด็นนี้มาขยายให้ได้กระจ่างกันซักตั้ง
งานเขียนที่มีการจดลิขสิทธิ์ถูกต้องนั้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 6 เจ้าของบทประพันธ์ ย่อมได้รับความคุ้มครองแก่ท่านเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานเขียนดังกล่าวโดยอัตโนมัติ โดยผู้เขียนในฐานที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำซ้ำ หรือดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนหรือให้ประโยชน์อันจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น หากมีสำนักพิมพ์หรือผู้อื่นนำงานเขียนนั้นไม่ว่าบางส่วน หรือทั้งหมดไปพิมพ์จำหน่าย อันเป็นการทำซ้ำหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากท่านเจ้าของลิขสิทธิ์ ย่อมถือว่า เขาได้ละเมิดลิขสิทธิของท่าน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 20,000 -200,000 บาท ตามความแห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27,69 และวิธีการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งานเขียนของท่านดังกล่าว ท่านย่อมเก็บงานอันเป็นต้นฉบับเอาไว้ และส่งตัวสำเนาไปยังสำนักงานพิมพ์นั้น ๆ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันในการพิสูจน์การละเมิดลิขสิทธิ์นั้น
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
มาตรา 6 งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่งานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ของผู้สร้างสรรค์ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด
การคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่คลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์
มาตรา 15 ภายใต้บังคับมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 14 เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวดังต่อไปนี้
(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
(3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง
(4) ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น
(5) อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม (1) (2) หรือ (3) โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดหรือไม่ก็ได้ แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะกำหนดในลักษณะที่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้
การพิจารณาว่าเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง (5) จะเป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 27 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
มาตรา 69 ผู้ใดกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตามมาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อการค้า ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เข้าใจตรงกันนะออเจ้า!