อีกประมาณ 32 ปี กรุงจาการ์ตาจะกลายเป็นเมืองบาดาล

2018-08-14 13:05:18

อีกประมาณ 32 ปี กรุงจาการ์ตาจะกลายเป็นเมืองบาดาล

Advertisement


ผลการศึกษาชี้ชัด กรุงจาการ์ตา มีสิทธิเสี่ยงจมน้ำภายใน 32 ปีข้างหน้านี้ เป็นเมืองใหญ่ที่จะจมน้ำเร็วที่สุด จากปัญหาการโหมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้อย่างไม่บันยะบันยัง

กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงอินโดนีเซีย เป็นที่อยู่ของประชากร 10 ล้านคน แต่ถือเป็นหนึ่งของเมืองที่จมน้ำเร็วที่สุดในโลก หากไม่มีมาตรการจัดการเร่งด่วน หลายพื้นที่ของมหานครแห่งนี้ อาจจมอยู่ใต้น้ำได้ภายในปี 2593 ซึ่งมีคำถามตามมาว่า มันสายเกินไปไหมที่จะแก้ไข ?



ด้วยความที่กรุงจาการ์ตาตั้งอยู่บนที่ราบลุ่ม พื้นดินส่วนใหญ่เป็นหนองบึง อยู่ติดกับทะเลชวา และยังมีแม่น้ำถึง 13 สายไหลผ่านเมือง จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เมืองหลวงของอินโดนีเซียจะเผชิญหน้าเหตุน้ำท่วมบ่อยครั้ง แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญ คาดว่า สถานการณ์กำลังเลวร้ายลงเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่น้ำท่วมแบบกะทันหันคาดเดาไม่ได้เท่านั้น แต่เมืองใหญ่แห่งนี้กำลังจะทรุดหายไปเลยทีเดียว

"เฮริ แอนเดรียส" นักวิชาการจากสถาบันเทคโนโลยีบันดุง อินโดนีเซีย ซึ่งศึกษาสภาพดินของกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศมานาน 20 ปี กล่าวว่า ความเป็นไปได้ที่กรุงจาการ์ตาจะจมอยู่ใต้น้ำ ไม่ใช่เป็นเรื่องน่าขบขันอีกต่อไปแล้ว และหากพิจารณาตามรูปแบบที่ทำการศึกษาไว้ ภายในปี 2593 พื้นที่ตอนเหนือของกรุงจาการ์ตาประมาณร้อยละ 95 จะจมอยู่ใต้น้ำ และขณะนี้ มันได้เกิดขึ้น กรุงจาการ์ตาตอนเหนือจมน้ำไปแล้ว 2.5 เมตรในรอบ 10 ปี และยังคงจมลงอีกเรื่อย ๆ ปีละ 25 เซนติเมตรในหลายพื้นที่ ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 2 เท่าสำหรับเมืองใหญ่ชายฝั่ง



กรุงจาการ์ตากำลังจมใต้น้ำเฉลี่ย 1-15 เซนติเมตรต่อปี และเกือบครึ่งเมืองขณะนี้ อยู่ระดับต่ำกว่าน้ำทะเล จนทำให้ปัจจุบันนี้ อาคารหลายแห่งในเขตมัวร่า บารู ซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงจาการ์ต้าถูกน้ำท่วมขังและถูกทิ้งร้าง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความเสี่ยงที่เมืองทั้งเมืองจะจมบาดาล แต่กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก็ยังไม่ใส่ใจ ยังเดินหน้าสร้างอพาร์ทเมนท์หรูหราขึ้นทางเหนือของกรุงจาการ์ต้า ซึ่งสภาที่ปรึกษาสำหรับสมาคมพัฒนาที่อยู่อาศัยของอินโดนีเซียเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณดังกล่าว แต่ไม่เป็นผล เพราะอพาร์ทเมนท์ยังคงขายได้ การพัฒนาก็ยังคงเดินหน้าต่อไป

นอกจากนี้ อัตราการทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วในกรุงจาการ์ต้า ส่วนหนึ่งเกิดจากการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ เนื่องจากน้ำประปายังมีใช้ไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่  และสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเมื่อไม่มีกฏหมายบังคับ ทำให้ประชาชนไปจนถึงอุตสาหกรรมต่าง ๆ ยิ่งพากันสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เองได้อย่างไม่ผิดกฏหมาย

พื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงจาการ์ตา ตามประวัติศาสตร์แล้ว เคยเป็นเมืองท่า และทุกวันนี้ เป็นที่ตั้งของท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดและพลุกพล่านที่สุดของอินโดนีเซีย ชื่อ "ตันจุง ปริอ็อก" และยังเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีแม่น้ำ ชีลิวง ไหลลงสู่ทะเลชวา เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำไม เนเธอร์แลนด์ เจ้าอาณานิคมในขณะนั้น เลือกที่นี่เป็นศูนย์กลางในช่วงศตวรรษที่ 17

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุสำคัญ ความร้อนและการละลายของน้ำแข็งที่ขั้วโลกทำให้น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อเมืองชายฝั่งทั่วโลก แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในจาการ์ตาทำให้ผู้เชี่ยวชาญกังวล หลายฝ่ายเสนอให้ห้ามใช้น้ำบาดาล และหันไปพึ่งแหล่งน้ำอื่น ไม่ว่าจะเป็นน้ำฝน น้ำจากแม่น้ำลำคลอง หรือน้ำประปา แต่ทุกอย่างก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม