บริจาคพุ่ง 12 ล้านสมทบทุนวิจัย “ยาแอนติบอดีรักษามะเร็ง”

2018-10-20 09:35:34

บริจาคพุ่ง 12 ล้านสมทบทุนวิจัย “ยาแอนติบอดีรักษามะเร็ง”

Advertisement

แพทย์จุฬาฯ เดินหน้าวิจัยยาแอนติบอดีรักษาโรคมะเร็ง คาดอีก 4-5 ปี จะเริ่มนำมาใช้ในผู้ป่วยมะเร็ง เผยยอดบริจาคสมทบทุนวิจัยล่าสุดพุ่งกว่า 12.5 ล้านบาท

นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับนิว 18 ถึงการทำวิจัยสานภูมิต้านทาน หรือ แอนติบอดี ในการใช้รักษาโรคมะเร็งว่า จุดเริ่มต้นในการทำวิจัย เนื่องจากเห็นว่าในต่างประเทศยากลุ่มนี้สามารถรักษาคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งให้ขาดได้ จากการบอกเล่าของตัวคนไข้เอง แต่ยาดังกล่าวมีราคาค่อนข้างสูง จึงต้องการนำมาวิจัยเพื่อให้คนไทยได้ใช้ในราคาที่จับต้องได้ โดยได้เริ่มเตรียมงานวิจัยตั้งแต่ปี 2559 จากการขอทุนของจุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย เพื่อสร้างห้องปฏิบัติการณ์ ซื้อเครื่องมือ จ้างนักวิจัย รวมถึงไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา เพื่อเรียนรู้ขั้นตอนพัฒนายาต้นแบบที่จะประสบความสำเร็จมากที่สุด

นพ.ไตรรักษ์ กล่าวต่อว่า จากการทดลองทำวิจัยมา 2 ปี ล่าสุดทางทีมวิจัยเริ่มได้ต้นแบบแล้ว ซึ่งผลิตได้จากเซลล์เม็ดเลือดขาวของหนู เมื่อนำมาเทียบกับยาที่ใช้ในคนพบว่า มีฤทธิ์ในการจับกับเป้าหมายที่ต้องการ ที่ทำให้เม็ดเลือดขาวมีการทำงานดีขึ้น ใกล้เคียงกับยาที่มีขายในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่มีแนวโน้มที่ดี หากพัฒนาต่อไปในอนาคต อาจมีเป้าหมายทำให้เป็นยาที่นำมาใช้ในคนได้





สำหรับยากลุ่มแอนติบอดี เป็นยาที่สร้างมาจากเซลของสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีความแตกต่างจากยารักษาโรคมะเร็งทั่วไปในปัจจุบันที่เป็นเคมีบำบัด ซึ่งผลิตจากสารเคมี

โดยการวิจัยแอนติบอดี กรณีนี้เป็นเม็ดเลือดขาวของหนู ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างยาก ขั้นต่อไปคือต้องพัฒนาให้แอนติบอดีของหนูให้คล้ายคนมากที่สุด ดังนั้นหลังจากนี้ระยะต่อไปคือต้องเปลี่ยนจากเซลล์ของหนูให้เป็นของคน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี หากสำเร็จต้องนำเข้าโรงงานขยายปริมาณให้ได้จำนวนมากเพียงพอที่จะทำทดลองต่อใช้เวลาประมาณ 18 เดือนถึง 2 ปี หลังจากนั้นจะได้ยาที่จะมาทำทดลองในสัตว์ ซึ่งอาจใช้เวลาอีก 1 ปีครึ่ง



อย่างไรก็ตาม หากกระบวนการทดลองทุกอย่างได้ประสิทธิภาพ ไม่มีข้างเคียง เชื่อว่าอีกประมาณ 4-5 ปี จะสามารถเริ่มนำมาทดสอบในคนได้ โดยจะเริ่มจากการทดสอบกับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งใน รพ.จุฬาลงกรณ์ เป็นการวิจัยทางคลินิก ซึ่งจะมีการติดตามดูผลเป็นระยะเวลาอีก 2-4 ปี แล้วหากได้ผลดีเทียบเท่ากับยาในต่างประเทศ ก็จะสามารถยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทยให้ผลิตและแจกจ่าย หรือ จำหน่ายให้คนทั่วไปได้ ซึ่งยากลุ่มนี้จะไม่มีผลค้างเคียงเหมือนกับเคมีบำบัด และสามารถรักษามะเร็งกว่า 15 ชนิด ส่วนในอนาคตอาจจะสามารถรักษาได้เพิ่มมากขึ้นถึง 25 ชนิด



ทั้งนี้การผลิตยากลุ่มดังกล่าวมีต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูงในต่างประเทศจะอยู่ที่ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งวัตถุประสงค์ของการทดลองในครั้งนี้คือต้องการทำให้ราคาถูกลง ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการลงทุนการผลิต สิ่งที่ทำได้คือการระดมทุนจากภาคประชาชน หรือ อาจจะต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐด้วย

ทางศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้มีการจัดตั้งกองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ เนื่องจากการคิดค้นวิจัยเพื่อนวัตกรรมที่สำคัญยิ่งนี้ ต้องอาศัยแรงสนับสนุนความร่วมมือจากประชาชนเอกชนและรัฐ ในการจัดหาทุนจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์จัดสร้างสถานที่เพื่อดำเนินงานวิจัยให้สำเร็จลุล่วง



โดยการผลิตยาแอนติบอดีมีหลายขั้นตอน ขณะนี้ผ่านขั้นที่ 1 ทำให้มียาต้นแบบแล้ว 1 ชนิด ขั้นที่ 2 คือการดัดแปลงให้เป็นยาที่สามารถให้คนได้ (Humanization) สำหรับขั้นที่ 2 นี้ต้องการเงินทุนเร่งด่วน 10 ล้านบาท หลังจากนั้น ขั้นที่ 3 คือการผลิตให้ได้ปริมาณมากพอที่จะทดสอบในสัตว์ทดลอง และเริ่มทดลองในผู้ป่วย ขั้นนี้ต้องการเงินค่าผลิต 200 ล้านบาท เป็นที่มาของการขอระดมทุน 5 บาทต่อคนไทยที่มีรายได้ และยังมีขั้นที่ 4 อีก



ขณะที่ทางเพจ CU Cancer Immunotherapy Fund ของ กองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า เนื่องจากบัญชีออมทรัพย์มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนการโอนต่อวัน ทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯจึงได้เปิดบัญชีกระแสรายวันเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งบัญชี ชื่อบัญชีเหมือนเดิมนะคะ ใช้ได้ทั้งสองบัญชี สำหรับชื่อภาษาอังกฤษคือ Faculty of Medicine, Chulalongkorn University

สำหรับท่านที่ต้องการจะมาบริจาคด้วยตนเอง กรุณาติดต่อที่ฝ่ายการเงิน ชั้น 2 ตึกอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในเวลาราชการ



ล่าสุดวันที่ 20 ต.ค. เพจ CU Cancer Immunotherapy Fund ได้ อัพเดตยอดเงินบริจาคต่อจากอยู่ที่ 12,517,146.32 บาท เนื่องจากติดวันเสาร์อาทิตย์ เราจะได้รับรายงานยอดจากฝ่ายการเงินอีกครั้งในวันจันทร์