รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี “ซินดี้” ชวนถ่ายรูปหน้าตัวเองกับหยดน้ำตาสีดำลงโซเชียล พร้อมแฮชแท็ก #เจ็บแต่ไม่ยอม โดยลุกขึ้นสู้เคียงข้างกัน ก้าวผ่านเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ด้านโพลตอกสังคมไทยผลิตซ้ำ-หล่อหลอมความรุนแรง อำนาจชายเป็นใหญ่ ฝังรากผ่านสื่อละคร มองผู้หญิงแค่วัตถุทางเพศ เตรียมชงกระทรวงศึกษาธิการ เพิ่มหลักสูตรเท่าเทียมทางเพศ
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ซินดี้ สิรินยา บิชอฟ และเพื่อนนักแสดง นำทีมรวมพลังผู้ถูกกระทำความรุนแรง ทำกิจกรรมรณรงค์ในแคมเปญ #เจ็บแต่ไม่ยอม เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล พร้อมเสวนาถ่ายทอดประสบการณ์ผู้ที่เคยถูกกระทำ โดยภายในงานมีการนำผู้ที่ผ่านพ้นจากความรุนแรง และเครือข่ายกว่าร้อยชีวิต วาดหยดน้ำตาสีดำที่ใบหน้า ร่วมเดินรณรงค์และทำแฟลชม็อบรวมพลคนเจ็บแต่ไม่ยอม
น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการเก็บผลสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้หญิง อายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป จำนวน 1,655 ชุด พื้นที่ใน กทม. ตั้งแต่วันที่ 1-8 พ.ย.2561 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ อายุ 31-40 ปี ร้อยละ 36.2 เคยเห็นเพื่อน คนใกล้ชิดประสบปัญหา ร้อยละ 38.4 เคยเห็นคนใกล้ชิดโดนทำร้ายและเคยเจอมากับตัวเองด้วย ร้อยละ 10.4 ตลอดจนเคยประสบปัญหาด้วยตัวเอง ร้อยละ 7.8 นอกจากนี้ยังเห็นการตอกย้ำสะท้อนความรุนแรงทางเพศ ผ่านสื่อละคร เช่น “ฉากละครตบ-จูบ เป็นเรื่องปกติ ทำให้ละครน่าสนใจ” มีผู้เห็นด้วยถึงร้อยละ 44.7 “นางร้ายในละครถูกลงโทษด้วยความรุนแรงเป็นสิ่งที่สมควรแล้ว” ร้อยละ 39.0 “สื่อส่วนใหญ่มักนำเสนอภาพผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ” ร้อยละ 32.1 และ“ฉากพระเอกข่มขืนนางเอกเป็นเรื่องปกติ ยอมรับได้” ร้อยละ 25.3
น.ส.จรีย์ กล่าวว่า ประโยคหรือข้อความ ที่กลุ่มตัวอย่างคุ้นหู เคยชินมากที่สุด ได้แก่ “สามี-ภรรยา เปรียบเหมือนลิ้นกับฟัน กระทบกระทั่งกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา” ร้อยละ 89.2 รองลงมา “ความในอย่านำออก ความนอกอย่านำเข้า เรื่องในครอบครัวไม่ควรนำไปบอกคนอื่น เพราะจะเป็นการประจานครอบครัวตัวเอง” ร้อยละ 77.0 “ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว มีหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัว” ร้อยละ 62.8 “ผู้ชายเข้มแข็ง แข็งแรงกว่า และมีภาวะความเป็นผู้นำ” ร้อยละ 61.6 “ครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกันหรือหย่าร้าง จะทำให้ลูกเป็นเด็กมีปัญหา” ร้อยละ 57.4 ซึ่ง ประโยคดังกล่าวนี้ หากมองเพียงชั้นเดียวเหมือนไม่มีอะไร แต่ในความเป็นจริงนี่คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น ถูกผลิตซ้ำ สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะการปลูกฝังแบบแผนตีกรอบความเป็นผู้หญิง ความเป็นผู้ชายแบบตายตัว ผ่านกระบวนการ บ่มเพาะหล่อหลอมจากสถาบันทางสังคม ผลิตซ้ำทำให้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ปัญหา อดทนๆกันไปเดี๋ยวทุกอย่างก็จะดีขึ้นเอง
“ถึงเวลาแล้วที่เราควรกลับมาทบทวน และช่วยกันรื้อถอนวิธีคิด วิธีการหล่อหลอมที่มีผลต่อการสืบทอดความคิดความเชื่อแบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นรากเหง้าของทั้งปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาความรุนแรงทางเพศ และงานรณรงค์ในวันนี้หวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการชวนกันกลับมาตั้งคำถามกับการหล่อหลอมดังกล่าว และหวังว่าจะส่งสัญญาณไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ให้ถึงเวลาปรับหลักสูตรการเรียนการสอนที่ตอกย้ำการบ่มเพาะแบบเดิมๆ ให้เปลี่ยนใหม่เป็นการออกแบบหลักสูตรที่เน้นความเท่าเทียมทางเพศ ความเสมอภาคทางเพศ และการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายของคนทุกเพศอย่างจริงจังเสียที” น.ส.จรีย์ กล่าว
ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ดารานางแบบชื่อดัง กล่าวว่า กิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้อยากสะท้อนว่า เมื่อผู้หญิงต้องเผชิญกับสถานการณ์ความรุนแรง ต้องหยุดโทษตัวเองหรือเลิกคิดว่ามันเป็นเพราะเราเองกับเรื่องที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มจากตัวเองสร้างพลังให้ตัวเอง แน่นอนว่าบางเรื่องอาจละเอียดอ่อนซับซ้อนเปราะบางในครอบครัว แต่เราต้องสร้างทางเลือกอื่นให้กับตัวเอง โดยเฉพาะการมีข้อมูลในมือ ต้องค้นหาเสาะแสวง เพื่อที่จะมีความรู้ สร้างทางเลือกเพราะคนที่ไม่รู้ว่ามีทางเลือกอื่นอยู่ในมือจะเสียเปรียบ ทั้งนี้ขอชวนถ่ายรูปหน้าตัวเองกับหยดน้ำตาสีดำลงโซเชียล พร้อมแฮชแท็ก #เจ็บแต่ไม่ยอม
"อยากให้หยุดมายาคติเรื่องโทษผู้หญิงด้วยกันเอง หยุดโทษตัวเอง เพราะสังคมไม่ควรมีสถานการณ์รุนแรงอะไรเกิดขึ้นและสังคมไม่ได้นิ่งนอนใจ ทุกคนคอยฟัง คอยช่วยสนับสนุน พร้อมเป็นพลังใจ แคมเปญ#เจ็บแต่ไม่ยอม เราอยากบอกว่าอย่าพยายามอยู่ในสถานการณ์เป็นเหยื่อหรือเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อ เราควรแข็งแรงพอที่จะลุกขึ้นสู้ แน่นอนว่ามันเคยเจ็บ แต่เจ็บต้องไม่ยอม เราต้องสร้างพลังบวก เชื่อมั่นในตัวเองเชื่อในสิ่งที่กำลังทำอยู่ เห็นคุณค่าในตัวเอง แต่เราต้องการลุกขึ้นก้าวผ่านมันไปให้ได้ ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง แล้วมองหาตัวช่วย มีองค์กรหน่วยงานจำนวนมากที่พร้อมจะเข้ามายืนเคียงข้างเรา อย่างมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รวมไปถึงกลไกของรัฐเช่น 1300" ซินดี้ ระบุ
ขณะที่เค (นามสมมติ) บอกเล่าประสบการณ์ที่เคยเผชิญความรุนแรงและการคุกคามทางเพศที่เกิดจากคนใกล้ชิดในครอบครัวว่า ลูกสาวตน ในวัย 13 ขวบ ตกเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศจากสามีของตน หรือพ่อแท้ๆของเด็กโดยมีสติครบถ้วน อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุลูกสาวไม่กล้าเล่าให้ฟังจนผ่านไปเกือบสองเดือนหลังเกิดเหตุ ลูกจึงตัดสินใจบอก ซึ่งช็อกมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่รู้จะทำอย่างไร สามีคนก่อเหตุก็ปฎิเสธและเข้าไปด่าทอลูกว่าบอกเรื่องนี้ทำไม จนสุดท้ายเธอตั้งสติได้จึงปรึกษาเจ้านาย และได้ไปแจ้งความ และตำรวจก็ไม่สนใจเพราะเขามองว่าเป็นเรื่องในครอบครัว แต่เธอยืนยันเอาเรื่องถึงที่สุด โดยมีทางมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเข้ามาช่วย แต่สุดท้ายเขาก็หนีไป ทุกวันนี้ต้องพาลูกไปพบจิตแพทย์เดือนละสองครั้ง ในตอนแรกรู้สึกหวาดกลัวว่าเขาจะกลับมา แต่ตอนนี้ดีขึ้นเพราะได้ย้ายที่พักใหม่แล้ว แต่คงต้องดูแลลูกมากเป็นพิเศษเพื่อเยียวยาหัวใจที่บอบช้ำของลูก เราเองก็ต้องแข็งแกร่งขึ้น เปรียบเหมือนคนที่จะจมน้ำ ก็ต้องช่วยตัวเองก่อนในเบื้องต้น ตั้งหลักให้ดีแล้วจึงค่อยๆมองหาขอนไม้หรือตัวช่วย เพื่อมายืนเคียงข้างเรา
ด้านวี (นามสมมติ) ผู้ที่เผชิญเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศจากคนในครอบครัว โดยสามีของตนเอง ซึ่งอยู่กันมาได้ระยะหนึ่งก็บังคับให้เธอไปขายบริการทางเพศตอนกลางคืน โดยวิธีการปล่อยทิ้งไว้ที่ป้ายรถเมล์หรือที่เปลี่ยวตอนกลางคืน หรือบังคับไปโรงแรมเพื่อรับแขก ในช่วงแรกของการแต่งงานก็ไม่พบว่าผู้ชายมีความผิดปกติอะไร แต่เมื่อย้ายที่ทำงานมาในจังหวัดทางชายฝั่งตะวันออก พฤติกรรมสามีก็เปลี่ยนไป ดื่มเหล้า พูดจาลามก หรือบังคับให้ตนดูรูปคลิปโป๊ และบังคับให้ไปเร่ขายบริการทางเพศ โดยขู่ว่าถ้าไม่ทำจะไม่ได้พบหน้าลูกอีก จนสุดท้ายตนก็ทนไม่ได้ จึงหาทางออกด้วยการหาข้อมูลในโซเชียล จนมาพบหน่วยงานช่วยเหลือคือมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ก็เลยเขียนจดหมายมาเล่าเรื่องของตนจนมีเจ้าหน้าที่โทรมาหา และให้ความช่วยเหลือดูแล จนกระทั่งหลุดจากบ่วงตรงนั้นมาได้ และตอนนี้ผู้ชายก็ถูกดำเนินคดีแล้ว อยู่ในคุกโดนโทษ 7 ปี จึงอยากฝากไปถึงผู้ที่กำลังถูกทำร้ายทุกคนให้ตั้งสติ หนักแน่น อย่ายอมให้ถูกกระทำ หรืออดทนเพราะคิดว่าเดี๋ยวก็จะดีขึ้นเอง หรือกลัวเสียงติฉินนินทา เพราะมันจะยิ่งเลวร้าย แน่นอนเราเจ็บ แต่เราจะไม่ยอมอีกต่อไป