ผลการศึกษาวิจัยล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า ต้นโกโก้กำลังจะสูญหายไปจากโลกของเรา อย่างเร็วที่สุดในปี พ.ศ. 2593 จากผลพวงของภาวะโลกร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น และสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งกว่าเดิม
คณะนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (ยูซี เบิร์กลีย์) สหรัฐอเมริกา กำลังทำงานร่วมกับบริษัท Mars เพื่อพยายามรักษาต้นโกโก้ไว้ ก่อนที่จะสายเกินไป ทีมงานนักวิจัยกำลังสำรวจความเป็นไปได้ ในการใช้เทคโนโลยีการปรับแต่งพันธุกรรม ที่เรียกว่า CRISPR เพื่อทำให้ต้นโกโก้สามารถอยู่รอดได้ ภายใต้สิ่งท้าทายใหม่ ๆ
เลยทะลุกำแพงกระจกและหินทราย เข้าไปในอาคารวิทยาศาสตร์ชีวภาพหลังใหม่ ในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย จะเห็นเมล็ดโกโก้สีเขียวขนาดเล็กเรียงเป็นแถว ในเรือนกระจกแช่เย็น รอวันกำหนดชะตากรรม ภายใต้การควบคุมดูแลของ นายโช มยอง-เจ ผู้อำนวยการแผนกจีโนมิกส์พืชของยูซี เบิร์กลีย์ ที่ร่วมมือกับบริษัทอาหารและขนมหวาน “มาร์ส”
เมล็ดโกโก้จะเปลี่ยนแปลงไป หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่กำหนด อีกไม่นานเมล็ดโกโก้ขนาดเล็กเหล่านี้จะสามารถอยู่รอด และเติบโต ในสภาพภูมิอากาศแห้งและร้อนกว่า ที่สร้างความหวาดผวาแก่เกษตรกรทั่วโลก เทคโนโลยี CRISPR ถูกใช้เพื่อทำให้พืชผลราคาถูกลง และเชื่อถือได้มากกว่า แต่การใช้ประโยชน์สำคัญที่สุดของพวกมันจะอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่ซึ่งพืชที่ประชาชนจำนวนมากต้องพึ่งพาเลี้ยงชีวิต ถูกคุกคามโดยผลกระทบจากภาวะโลกร้อน รวมทั้งภาวะขาดแคลนน้ำ และศัตรูพืช
ต้นโกโก้สามารถปลูกได้ในพื้นที่จำกัดของโลก ตามแนวแคบ ๆ ของป่าหนาทึบเขตร้อน ประมาณ 20 องศาเหนือและใต้ของเส้นศูนย์สูตร ซึ่งอุณหภูมิ ฝน และความชื้น ค่อนข้างจะคงที่ตลอดทั้งปี แต่พื้นที่เหล่านี้จะไม่เหมาะสำหรับช็อกโกแลต
ในช่วงไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ภายในปี พ.ศ. 2593 อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจะผลักภูมิภาคปลูกช็อกโกแลต ขึ้นเนินสูงกว่า 1,000 ฟุต เข้าสู่ภูเขา ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นเขตอนุรักษ์พืชพรรณและสัตว์ป่า
มาร์ส กลุ่มธุรกิจมูลค่า 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่รู้จักกันดีเช่น อาหารว่าง Snickers ทราบดีถึงปัญหาที่เกิดจากภาวะโลกร้อนเหล่านี้ ในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา บริษัทมาร์สประกาศมอบเงินจำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สมทบทุนโครงการที่เรียกว่า “ความยั่งยืนใน 1 ชั่วอายุคน” ซึ่งมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากผลิตภัณฑ์ของบริษัทกว่า 60 % ภายในปี พ.ศ. 2593
แผนริเริ่มของบริษัทมาร์สกับโช แห่งยูซี เบิร์กลีย์ เป็นอีกหนึ่งมิติของความพยายาม หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน พวกเขาสามารถต้นปลูกโกโก้ที่จะไม่เหี่ยวเฉา หรือเน่าเปื่อย ในพื้นที่เพาะปลูกปัจจุบัน หมดความจำเป็นที่จะต้องโยกย้ายฟาร์ม หรือหาแนวทางอื่น ๆ