ม.มหิดลแนะรับมือ PM2.5

2019-01-18 12:45:08

ม.มหิดลแนะรับมือ PM2.5

Advertisement

มหาวิทยาลัยมหิดลห่วงใยประชาชน แนะการดำเนินชีวิตท่ามกลางฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5  ระบุ PM2.5 มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด หลอดเลือดในสมอง ชี้การอยู่ในสถานที่อากาศมี PM2.5 สูง ในระยะยาวอาจสัมพันธ์กับการเกิดโรคสมองเสื่อม มะเร็งปอด เผยสารอาหารบางชนิดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ อาจลดผลกระทบทางสุขภาพจาก PM2.5 เมื่อใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เช่น วิตามินซี วิตามินอี และน้ำมันปลา 

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ห้องประชุมคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตึกอำนวยการ ชั้น 2 รพ.ศิริราช ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานการแถลงข่าว “มาตรการการดูแลสุขภาพและการจัดการที่ประชาชนสามารถดำเนินการได้เกี่ยวกับฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5” โดยมี ศ.ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ ผู้แทนคณบดีคณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี รศ.ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ รศ.ดร. กัมปนาท ภักดีกุล คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมด้วยโดยมีเนืิ้อหาสรุปดังนี้

ผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพของมนุษย์

PM2.5 คือ อนุภาคขนาดเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่าง ๆ ซึ่งผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพมีดังต่อไปนี้

1.ผลต่อระบบทางเดินหายใจ ในระยะสั้นสามารถทำให้คนที่มีโรคระบบการหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ ทั้งโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคหืด และ โรคถุงลมโป่งพอง ในระยะยาวอาจมีส่วนทำให้เกิดโรคถุงลมป่องและมะเร็งปอดได้เพิ่มขึ้น

2.ผลต่อระบบอื่น ๆ ซึ่งการสูดดม PM2.5 มีผลกระทบทางสุขภาพระบบอื่น ๆ นอกจากระบบทางเดินหายใจด้วย การศึกษาส่วนใหญ่เป็นการศึกษาทางระบาดวิทยาและในสัตว์ทดลอง พบว่าปริมาณสาร PM2.5 ในอากาศมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงหลอดเลือดในสมองทั้งในระยะเฉียบพลันและการได้รับในระยะยาว นอกจากนั้นยังพบว่าการอยู่ในที่ ๆ อากาศมี PM2.5 สูง ในระยะยาวอาจสัมพันธ์กับการเกิดโรคสมองเสื่อมด้วย

กลไกการเกิดโรคจาก PM2.5 มีสมมติฐาน คือ ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ หรือเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบในบริเวณที่เป็นโรค และอาจจะมีสารบางชนิดติดกับอณูของ PM2.5 เช่น โลหะหนักบางชนิด หรือสารก่อมะเร็ง เช่น สารกลุ่ม Polycyclic aromatic hydrocarbon (PAH) การสูดดม PM2.5 จะทำให้ได้รับสารเหล่านี้แล้วเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็ง การศึกษาพบว่าสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปอด


แหล่งกำเนิดของ PM2.5 PM2.5 ในกรุงเทพและปริมณฑลมาจาก 4 แหล่งหลัก ได้แก่

1. ไอเสียจากรถยนต์ หรือจากการจราจร ซึ่งส่วนใหญ่มาจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล

2. การเผาชีวมวล การเผาในที่โล่ง และในที่ไม่โล่ง

3. ฝุ่นทุติยภูมิที่เกิดจากปฏิกิริยาการรวมตัวกันของไอเสียรถยนต์

4. การเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า

ทั้งนี้ปัญหา PM2.5 ไม่ได้เป็นปัญหาใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงเดือน ม.ค.ถึงเดือน มี.ค.ที่อากาศสงบและลมนิ่ง โดยปริมาณ PM2.5 เฉลี่ยระดับ 24 ชั่วโมงจะสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานประมาณ 40-50 วันต่อปี นอกจากนี้ปริมาณ PM2.5 ยังมีความแตกต่างกันตามแต่ละสถานที่ สิ่งแวดล้อมและช่วงเวลา โดยปริมาณ PM2.5 จะมีระดับสูงขึ้นในช่วงเช้าและเย็น และมีระดับลดลงในช่วงกลางวัน

มาตรการในระยะเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหา PM2.5

สิ่งสำคัญในการรับมือปัญหา PM2.5 คือ 1) การประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหา PM2.5 ในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากปริมาณ PM2.5 มีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปตามสถานที่ สิ่งแวดล้อมและช่วงเวลา โดยปัจจุบันสามารถประเมินได้ผ่านจากแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น Air4Thai, AirVisual, Air Quality หรือ www.aqicn.org/city/bangkok โดยแบ่งความรุนแรงตามระดับสี (สีเหลือง สีส้มและสีแดง) ถ้าไม่สามารถประเมินด้วยวิธีดังกล่าวได้ อาจสังเกตจากสภาพอากาศหรือคำแจ้งเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแทน 2) การประเมินภาวะทางสุขภาพ ว่าเป็นคนทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรงดี หรือคนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคทางเดินหายใจหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้มาตรการในการรับมือปัญหา PM2.5 จะแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของปัญหาและสุขภาพของแต่ละบุคคล


1. พื้นที่สีเหลือง สถานการณ์อยู่ในระดับปานกลาง

บุคคล: คนทั่วไป สามารถออกไปกลางแจ้งได้ ออกกำลังกายกลางแจ้งได้ หากเป็นอาชีพที่ต้องออกไปกลางแจ้งเป็นเวลานานพิจารณาใส่หน้ากากป้องกัน ทั้งนี้ควรมีช่วงที่กลับไปพักในอาคารที่มีการระบายอากาศดีหรือมีเครื่องปรับอากาศเป็นระยะ ๆ คนกลุ่มเสี่ยง ควรปรับเวลาในการออกไปกลางแจ้ง และหากต้องออกไปกลางแจ้งควรใส่หน้ากากป้องกัน

สถานที่: บ้าน สามารถเปิดประตูหรือหน้าต่างห้องได้ ถ้าไม่มีคนกลุ่มเสี่ยงอยู่ในห้อง แต่ไม่ควรเปิดทิ้งไว้ตลอด โรงเรียนหรือหน่วยงาน พิจารณาปรับเวลาเข้าและเลิก ลดกิจกรรมกลางแจ้ง

สิ่งแวดล้อม: ยานพาหนะ สามารถเข้ามาได้ในพื้นที่ตามปกติ ควรปลูกต้นไม้เพิ่ม โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีใบมาก ไม้เลื้อย ไม้ล้มลุก หรือไม้พุ่มบางชนิด เช่น เล็บมือนาง กะทกรก ใบระบาด เครือออน คริสตินาและไทรเกาหลี

เวลา: ปริมาณ PM2.5 มีการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา โดยมีระดับสูงขึ้นในช่วงเช้าและเย็น และจะมีระดับลดลงในช่วงกลางวัน ควรมีการติดตามสถานการณ์เป็นระยะ ๆ

2. พื้นที่สีส้ม สถานการณ์อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

บุคคล: คนทั่วไป ควรปรับเวลาในการออกไปกลางแจ้ง ลดการออกกำลังกายกลางแจ้ง หากเป็นอาชีพที่ต้องออกไปกลางแจ้งเป็นเวลานานควรใส่หน้ากากป้องกัน ทั้งนี้ควรมีช่วงที่กลับไปพักในอาคารที่มีการระบายอากาศดีหรือมีเครื่องปรับอากาศเป็นระยะ ๆ คนกลุ่มเสี่ยง ลดเวลาในการออกไปกลางแจ้ง และหากต้องออกไปกลางแจ้งควรใส่หน้ากากป้องกัน

สถานที่: บ้าน ไม่ควรเปิดประตูหรือหน้าต่างห้อง หากมีเครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศสามารถใช้ได้ โรงเรียนหรือหน่วยงาน ลดเวลาเรียนหรือทำงาน งดกิจกรรมกลางแจ้ง

สิ่งแวดล้อม: ยานพาหนะ สามารถเข้ามาได้ในพื้นที่ตามปกติ  หลีกเลี่ยงการเผาขยะ ควรปลูกต้นไม้เพิ่ม โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีใบมาก ไม้เลื้อย ไม้ล้มลุก หรือไม้พุ่มบางชนิด เช่น เล็บมือนาง กะทกรก ใบระบาด เครือออน คริสตินาและไทรเกาหลี

เวลา: ปริมาณ PM2.5 มีการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา โดยมีระดับสูงขึ้นในช่วงเช้าและเย็น และจะมีระดับลดลงในช่วงกลางวัน ควรมีการติดตามสถานการณ์เป็นระยะ ๆ

3. พื้นที่สีแดง สถานการณ์อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ

บุคคล: คนทั่วไป ลดเวลาในการออกไปกลางแจ้ง งดออกกำลังกายกลางแจ้ง หากเป็นอาชีพที่ต้องออกไปกลางแจ้งเป็นเวลานานควรใส่หน้ากากป้องกัน ทั้งนี้ควรมีช่วงที่กลับไปพักในอาคารที่มีการระบายอากาศดีหรือมีเครื่องปรับอากาศเป็นระยะ ๆ คนกลุ่มเสี่ยง งดการออกไปกลางแจ้ง และหากต้องออกไปกลางแจ้งควรใส่หน้ากากป้องกัน

สถานที่: บ้าน ไม่ควรเปิดประตูหรือหน้าต่างห้อง หากมีเครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศสามารถใช้ได้ โรงเรียนหรือหน่วยงาน ควรปิดเรียนหรือหยุดทำงาน

สิ่งแวดล้อม: ยานพาหนะ ลดจำนวนพาหนะที่เข้าสู่พื้นที่ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล จัดการจราจรให้คล่องตัว งดการเผาขยะ ควรปลูกต้นไม้เพิ่ม โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีใบมาก ไม้เลื้อย ไม้ล้มลุก หรือไม้พุ่มบางชนิด เช่น เล็บมือนาง กะทกรก ใบระบาด เครือออน คริสตินาและไทรเกาหลี

เวลา: ปริมาณ PM2.5 มีการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา โดยมีระดับสูงขึ้นในช่วงเช้าและเย็น และจะมีระดับลดลงในช่วงกลางวัน ควรมีการติดตามสถานการณ์เป็นระยะ ๆ

การป้องกันผลกระทบทางสุขภาพจาก PM2.5 ขณะนี้เริ่มมีข้อมูลมากขึ้นว่า สารอาหารบางชนิดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ อาจสามารถลดผลกระทบทางสุขภาพจาก PM2.5 เมื่อใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เช่น วิตามินซี วิตามินอี และน้ำมันปลา เป็นต้น