ปรับชีวิตพิชิตโรคออฟฟิศซินโดรม

2017-06-28 08:05:50

ปรับชีวิตพิชิตโรคออฟฟิศซินโดรม

Advertisement

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยผลสำรวจในปี 2559 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ประมาณ 20.2 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี) จำนวน 14.4 ล้านคน รวมทั้งจากผลสำรวจพนักงานในสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งจำนวน 400 คน พบว่าร้อยละ 60 มีอาการเจ็บป่วยจากการทำงานด้วยอาการที่พบได้บ่อยๆ คือ ปวดหลังเรื้อรัง ไมเกรนหรือปวดศีรษะเรื้อรัง และมือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อก ซึ่งสาเหตุมักเกิดจากสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานไม่เหมาะสม และการใช้ชีวิตโดยไม่ค่อยเปลี่ยนอิริยาบถ รวมทั้งการเล่นโซเชียลผ่านโทรศัพท์มือถือนานๆ ในชีวิตประจำวัน

เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บป่วยเหล่านี้ ทางกรมควบคุมโรคจึงได้บอกต่อเคล็ดลับดีๆ เพื่อให้ชาวออฟฟิศปรับชีวิตพิชิตอาการเจ็บป่วยจากโรคออฟฟิศซินโดรม เพื่อสุขภาพดีอย่างยั่งยืน ด้วยวิธี “ปรับสมดุลคนทำงานออฟฟิศพิชิต 2 ม. (เมื่อยตัว และเมื่อยตา)” ดังนี้

1.       ม.เมื่อยตัว

ป้องกันได้ด้วยการนั่งทำงานด้วยท่าทางที่เหมาะสม และการจัดวางอุปกรณ์บนโต๊ะทำงานอย่างคอมพิวเตอร์และเก้าอี้ในระยะที่เหมาะสมกับผู้ใช้งาน ได้แก่ วางข้อมือให้ตรง ไม่บิดหรืองอข้อมือ, นั่งหลังตรง ชิดกับพนักพิงเก้าอี้ และปรับหน้าจอให้อยู่ในระดับสายตา จะได้ไม่ก้มคอมากจนเกินไป, วางคีย์บอร์ดให้ข้อศอกทำมุม 90 องศาพอดี รวมทั้งวางเท้าให้หัวเข่าทำมุม 90 องศา

นอกจากนี้ ในระหว่างการทำงานก็ควรหยุดพักเป็นระยะๆ และเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อทุกๆ 1 ชั่วโมง นอกจากจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดแล้ว ยังช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นได้เป็นอย่างดี

2.       ม..เมื่อยตา

วิธีเบื้องต้นสำหรับคนทำงานใช้สายตาจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ควรจัดสถานที่ให้มีแสงสว่างเพียงพอ ขณะทำงานควรกะพริบตาบ่อยๆ เพื่อป้องกันภาวะตาแห้ง หรือควรพักหลับตาประมาณ 3-5 วินาทีบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นให้น้ำตาไหลออกมาสร้างความชุ่มชื่นแก่ดวงตา และหากทำงานไปนานๆ แล้วมีอาการสายตาล้า คือ ปวดตา เคืองตา และตาแห้ง ควรออกจากหน้าจอแล้วพักสายตาทันที หรือหาเวลาพักสายตาช่วงสั้นๆ จากการทำงานทุกๆ 1-2 ชั่วโมง โดยให้พักสายตา ละจากการมองหน้าจอเป็นเวลา 5-10 นาที อาจเดินออกไปมองทิวทัศน์ไกลๆ จะได้เปลี่ยนอิริยาบถไปด้วย

นอกจากนี้ หากใครมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามข้อมูลและปรึกษาเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 เพื่อสุขภาพร่างกายแข็งแรงในระยะยาว มาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตการทำงานกันเถอะ...ว่าแล้วก็ขอตัวไปบริหารร่างกายสักครู่ดีกว่า...

 

ข้อมูลจาก : สำนักโรคจากการประกอบอาชีพฯ/ สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค