“ภาวะหัวใจเต้นระริก” ภัยร้ายที่ไม่ควรมองข้าม

2019-06-20 15:25:10

“ภาวะหัวใจเต้นระริก”  ภัยร้ายที่ไม่ควรมองข้าม

Advertisement

“โรคหัวใจ” นับเป็นภัยสุขภาพที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต โดยโรคหัวใจสามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายกลุ่มโรค อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ รวมไปถึงโรคหัวใจเต้นระริก หรือโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดย นพ.คมสิงห์ เมธาวีกุล หน่วยสรีระไฟฟ้าหัวใจ กลุ่มงานอายุรศาสตร์หัวใจ สถาบันโรคทรวงอก ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง และวิธีป้องกันการเกิดโรคหัวใจเต้นระริก มีใจความสำคัญดังนี้

ภาวะหัวใจเต้นรัว หรือเต้นเร็วจนรู้สึกได้ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ มีความรู้สึกเหนื่อยง่าย นั่นคือ สัญญาณเตือนของโรค “หัวใจห้องบนเต้นระริก” ซึ่งเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยโรคหัวใจเต้นระริกหรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า atrial fibrillation เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบบ่อย และพบมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่าโรคหัวใจเต้นระริกมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองขาดเลือด 5 เท่า, เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจล้มเหลว 3 เท่า และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและเกิดสมองเสื่อม 2 เท่า ดังนั้น การป้องกันการเกิดโรคหัวใจเต้นระริกจึงมีความสำคัญในการป้องกันโรคต่างๆ อันเป็นผลตามมามากมาย  

ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเต้นระริกมีทั้งปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การจะป้องกันโรคหัวใจเต้นระริกคงทำได้เพียงการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเต้นระริก ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ได้แก่




1. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา ไวน์ เบียร์ เป็นต้นในปริมาณมากเกินพอดี
2. การออกกำลังกายอย่างหักโหม อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจสั่นพลิ้วได้
3. ความเครียดและโกรธง่าย มีข้อมูลว่าสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจสั่นพลิ้วได้


4. การสูบบุหรี่อันนำไปสู่โรคปอดเรื้อรัง ไม่เพียงแต่ผู้ที่สูบบุหรี่เท่านั้นที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเต้นระริก ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่นได้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเต้นระริกเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
5. ภาวะอ้วนและน้ำหนักเกิน มีหลายการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ค่าดัชนีมวลกาย (body mass index; BMI) ซึ่งคำนวณจากน้ำหนักหน่วยเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง โดยค่าดัชนีมวลกายที่เพิ่มขึ้นมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเต้นระริก ในคนเอเชีย ถ้าค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไปถือว่ามีน้ำหนักเกิน และตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไปถือว่ามีภาวะอ้วน3
6. โรคความดันโลหิตสูง มีการศึกษาพบว่า ระดับความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเต้นระริกได้
7. โรคเบาหวาน มีการศึกษาพบว่าโรคเบาหวานมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจเต้นระริกได้ อย่างไรก็ตาม การศึกษาการควบคุมระดับน้ำตาลอย่างเข้มงวดยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่าสามารถลดการเกิดโรคหัวใจเต้นระริกได้
8. โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า obstructive sleep apnea (OSA) อย่างไรก็ตาม “การรักษา OSA ป้องกันการเป็นซ้ำของหัวใจเต้นระริกหลังจี้ไฟฟ้า อีกทั้งพบว่า อุบัติการณ์การเป็นหัวใจเต้นระริกลดลงหลังจากการรักษา OSA”




9. โรคหัวใจ มีข้อมูลที่พบว่า โรคหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute myocardial infarction) หรือหัวใจล้มเหลว (heart failure) มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเต้นระริกเพิ่มขึ้น

ด้านการป้องกันการเกิดโรคหัวใจเต้นระริก ทำได้โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น ซึ่งประกอบด้วย

1. การส่งเสริมสุขภาพ โดยการหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลต่ำและไม่เค็ม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานตามลำดับ ออกกำลังกายในระดับปานกลางและไม่หักโหมซึ่งสามารถป้องกันการเกิดโรคหัวใจสั่นพลิ้วได้ และหาเวลาผ่อนคลายความเครียดและไม่โกรธง่าย

 2. ควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเต้นระริก โดยลดน้ำหนัก ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และป้องกันหรือรักษาการเกิดโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น



3. การรักษาโรคหัวใจร่วมด้วย เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หัวใจล้มเหลว เป็นต้น

สิ่งที่สำคัญ เราควรจะหันมาใส่ใจสุขภาพให้มากขึ้น ดูว่ามีปัจจัยเสี่ยงอะไรหรือเปล่า ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ หมั่นไปพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อได้รับการวินิจฉัยรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งจะสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงได้ดี โอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคตก็จะลดลง  “หัวใจ” เป็นสิ่งสำคัญ ป้องกัน ตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้อยู่กับคนที่เรารักไปนานๆ 

ขอบคุณข้อมูลจาก สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์