โรคสายตาสั้นเทียม

2019-11-09 05:00:34

โรคสายตาสั้นเทียม

Advertisement

โรคสายตาสั้นเทียม 

สายตาสั้นเทียม (Pseudomyopia) เป็นภาวะสายตาสั้นที่เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อในเนื้อเยื่อ Ciliary Body ในลูกตาที่ใช้ในการเพ่งมองสิ่งที่อยู่ใกล้ มีการทำงานมากเกินไปจนเกิดการเกร็งค้าง ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่า

ในภาวะปกติ ตาคนเราที่มองวัตถุได้ชัดทั้งไกลและใกล้ เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อมัดนี้ ทำให้แก้วตาเพิ่มกำลังการหักเหของแสงอันจะทำให้วัตถุที่อยู่ใกล้ไปโฟกัส (Focus; จุดรวม) ที่จอตาได้ ซึ่งเวลามองไกลกล้ามเนื้อมัดนี้จะคลายตัว แต่เวลามองใกล้กล้ามเนื้อมัดนี้จะหดตัวเกร็งตัวเพื่อเพิ่มกำลังของแก้วตาเกิดภาวะสายตาสั้นที่ทำให้มองใกล้ได้ชัดเจน ผู้ใดที่จ้องมองใกล้อยู่นานๆ กล้ามเนื้อนี้จะทำงานอยู่นานกว่าปกติ จึงเกิดภาวะสายตาสั้นค้างอยู่ เมื่อมองไกลจึงยังอยู่ในภาวะสายตาสั้น ทำให้มองภาพไกลไม่ชัด ซึ่งมักเป็นอยู่ระยะเวลาหนึ่ง ถ้ากล้ามเนื้อนี้คลายตัว สายตาก็จะกลับมาเหมือนเดิม

ดังนั้น ภาวะนี้จึงถือว่าเป็นสายตาสั้นเทียมหรือสายตาสั้นชั่วคราว ซึ่งแพทย์หลายท่านได้ให้ความเห็นว่า ในบางรายอาจจะทำให้จากสายตาสั้นเทียมหรือสายตาสั้นชั่วคราวกลายเป็นสายตาสั้นจริงและสายตาสั้นตลอดก็ได้ ส่วนสาเหตุนั้น สายตาสั้นเทียม มีสาเหตุมาจากการใช้สายตามองใกล้ เช่น เพ่งมองคอมพิวเตอร์ เล่นเกมส์ ใช้โทรศัพท์มือถือ และอื่นๆ นานเกินไป

นอกจากนี้ ยังมีโรคทางสมองที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติชนิด Parasympathetic มากเกินไปด้วย เช่น จากอุบัติเหตุที่สมอง โรคตาบางชนิดทำให้ Ciliary body ทำงานหนักมากขึ้น เช่น ยูเวียอักเสบ (Uveitis) ผลข้างเคียงจากยารักษาโรคบางอย่าง เช่น ยาคลายเครียดในกลุ่ม Phenothiazine ยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคพาร์กินสัน ยา Chloroquine ยา Diamox ตลอดจนยาคลายกล้ามเนื้อต่างๆ หรือแม้แต่ยาบางตัวที่ใช้รักษาโรคต้อหิน เช่น Pilocarpine ก็ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นชั่วคราวได้เช่นกัน

แนวทางในการป้องกันสายตาสั้นเทียมทำได้ ดังนี้

1. ควรมีการพักสายตาเป็นระยะ เมื่อต้องใช้สายตาระยะใกล้ เพื่อให้กล้ามเนื้อที่ใช้เพ่งนั้นคลายตัวลง อาจจะเลือกใช้สูตร 20/20/20 คือใช้สายตาเพ่ง 20 วินาที มองไกล 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที หรือ อาจจะพักสายตา 1 นาที ทุกครึ่งชั่วโมง หรือใช้สายตา 1 ชั่วโมง แล้วพักสายตา 5-10 นาทีก็ได้ เพื่อไม่ให้เกิดการเพ่งค้าง

2.ไม่ควรใช้สายตาในที่ที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ หรืออ่านหนังสือที่มีตัวขนาดเล็กมากเกินไป เพราะจะยิ่งไปกระตุ้นให้เกิดการเพ่งมากขึ้นได้

อ.นพ.กวิน วณิเกียรติ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล