ยานสำรวจสหรัฐเผยข้อมูลใหม่ "ลมสุริยะ" (คลิป)

2019-12-06 11:00:40

ยานสำรวจสหรัฐเผยข้อมูลใหม่ "ลมสุริยะ" (คลิป)

Advertisement


ยานสำรวจขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ องค์การนาซา ส่งข้อมูลชุดใหม่จำนวนมาก ลงมายังศูนย์ควบคุมบนพื้นโลก ทำให้คณะนักวิทยาศาสตร์ได้ความรู้ใหม่ เกี่ยวกับลมสุริยะ และสภาพภูมิอากาศในอวกาศ ขณะที่ยานกำลังบินผ่านชั้นนอกสุด ของชั้นบรรยากาศรอบดวงอาทิตย์

น.ส.อเลดา ฮิกกินสัน นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน จากศูนย์วิจัยฟิสิกส์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ เผยเมื่อวันพฤหัสบดี ว่า ข้อมูลจากยานสำรวจดวงอาทิตย์ พาร์คเกอร์ (Parker Solar Probe) ซึ่งออกเดินทางจากโลกเมื่อปี พ.ศ. 2561 และเดินทางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด มากกว่าวัตถุใดๆ ที่สร้างจากฝีมือมนุษย์เท่าที่เคยมีมา ทำให้ได้ทราบรายละเอียดใหม่ เกี่ยวกับวิธีที่ดวงอาทิตย์ก่อกำเนิดสภาพภูมิอากาศในอวกาศ ซึ่งถือเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจใหม่สำหรับนักดาราศาสตร์ เกี่ยวกับลมสุริยะที่รุนแรงมหาศาล ที่สามารถขัดขวางการทำงานของดาวเทียมในอวกาศ รวมทั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์บนพื้นโลก



น.ส.ฮิกกินสัน กล่าวว่า ยานสำรวจพาร์คเกอร์ เริ่มไขปริศนาคาใจหลายอย่าง ของบรรดานักวิทยาศาสตร์ ที่มีมานานกว่า 50 ปี โดยหนึ่งใน “ความน่าประหลาดใจครั้งใหญ่มาก”คือ ยานพาร์คเกอร์สามารถตรวจจับความเร็วของลมสุริยะที่ปะทุอย่างกะทันหันและรุนแรง จนทำให้สนามแม่เหล็กพลิกกลับไปมา

ทั้งนี้ โลกมนุษย์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 149.6 ล้านกิโลเมตร ยานสำรวจพาร์คเกอร์ขององค์การนาซา เดินทางรอนแรมผ่านอวกาศ เข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์ ในระยะห่างประมาณ 24 ล้านกิโลเมตร เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลส่งกลับมายังพื้นโลก โดยท้ายที่สุด องค์การนาซาตั้งเป้าหมายควบคุมยานพาร์คเกอร์ ให้เคลื่อนตัวเข้าไปในระยะประมาณ 4 ล้านกิโลเมตร จากพื้นผิวของดวงอาทิตย์ ซึ่งใกล้กว่ายานสำรวจอื่นๆ เคยทำได้ถึง 7 เท่า.