ศาลพิพากษาจำเลยคดีแชร์ลูกโซ่ยูฟัน

2017-03-22 15:40:35

ศาลพิพากษาจำเลยคดีแชร์ลูกโซ่ยูฟัน

Advertisement

ศาลพิพากษาจำคุก จำเลยคดีแชร์ลูกโซ่ยูฟัน 22 คน ตั้งแต่ 12,255 ปี ถึง 12,267 ปี  สั่งปรับบริษัทยูเทรดดิ้งจำกัดจำเลยร่วม 1,225 ล้านบาท ยกฟ้องจำเลย 21 คน


ศาลอาญา รัชดา อ่านคำพิพากษา คดีแชร์ลูกโซ่ยูฟันโดยคดีนี้อัยการยื่นฟ้องนายศิริโชค สิริวรรณภา อดีตสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา , นายนที ธีระโรจนพงษ์ กับพวกรวม 43 คน รวม 7 สำนวนคดี ในความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 , พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบขายตรง พ.ศ.2545 / พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ.2550 / พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ในคดีแชร์ลูกโซ่บริษัทยูฟัน สโตร์ จำกัด พร้อมขอให้จำเลยร่วมกันคืนเงินชดใช้แก่ผู้เสียหาย 2,451 คน รวมเป็นเงิน  351,556,314 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี  
โดยในวันนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวจำเลยมาจากเรือนจำและทัณฑสถาน ซึ่งมีจำเลยได้ประกันเพียง 1 คน และเดินทางมาศาล ซึ่งมีญาติของจำเลยและผู้เสียหายรวมถึงพลตำรวจเอกสุวิระ ทรงเมตรา ที่ปรึกษา สบ.10 เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีจนเต็มห้องที่ 704 ศาลจึงเปิดห้องเพิ่มเติมและส่งสัญญาณภาพและเสียงให้ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมฟังคดีได้รับฟังด้วย
เมื่อถึงเวลานัดผู้เสียหายลำดับที่ 136 ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วม และโจทก์ขอเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาในวันนี้ออกไปก่อน ศาลสอบถามโจทก์ไม่คัดค้าน แต่ทนายจำเลยคัดค้านโดยแถลงต่อศาลว่าผู้เสียหายในคดีนี้บางคนอาจตกเป็นจำเลยในเวลาต่อไปได้ การขอเลื่อนเป็นการประวิงเวลาในคดี ส่วนการขอเป็นโจทก์ร่วมตามขั้นตอนกฎหมายยังมีช่องทางเรียกทรัพย์สินคืนทั้งคดีทางอาญาและแพ่ง
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าตามกฎหมายผู้เสียหายสามารถขอเป็นโจทก์ร่วมได้ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาในคดี จึงอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์ แต่ไม่อนุญาตให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาในวันนี้ และให้รวมสำนวนคดีทั้ง 7 เป็นสำนวนเดียวกันเนื่องจากพยานหลักฐานเป็นชุดเดียวกัน


ซึ่งจำเลยทั้ง 43 คน ให้การปฎิเสธ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบตรวจสอบสถานที่ตั้งของบริษัทยูฟัน ในแต่ละแห่งพบเป็นเพียงห้องเช่าและสอบถามพยานไม่พบการซื้อขายสินค้าตามที่บริษัทกล่าวอ้างแต่ใช้การซื้อขายสินค้าออนไลน์อำพรางการกระทำที่แท้จริง คือการขายหน่วยการลงทุน ยูโทเคนที่ไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย แต่บริษัทอ้างว่าเป็นสกุลเงินมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คล้ายกับการลงทุนหุ้นแต่ได้ผลตอบแทนเร็วกว่า และมีมูลค่าสูงกว่า และหากมีการหาสมาชิกต่อเพิ่มจะได้ผลตอบแทนร้อยละ 7 ถึง 12 ของเงินที่สมาชิกใหม่นำมาลงทุนใหม่ โดยมีพฤติการณ์นำเงินหมุนเวียนจากสมาชิกเก่ามาจ่ายให้สมาชิกใหม่ แต่ที่ผู้ร่วมลงทุนบางส่วนระบุไม่รู้สึกว่าตัวเองได้รับความเสียหาย เห็นว่าผู้เสียหายกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแม่ข่ายที่ได้รับค่าตอบแทนจากการชักชวนสมาชิกจำนวนมาก หลักฐานของจำเลยทั้ง 43 คน ไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้ จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษทุกกรรมเรียงกระทงความผิด
ทั้งนี้ ศาลได้พิพากษา จำคุกจำเลยที่ 1/2/4/6/11/12/13 คนละ 12,265 ปี จำคุกจำเลยที่ 7 เป็นเวลา 12,267 ปี แต่ตามกฎหมายให้จำคุกคนละ 50 ปี
และพิพากษาจำคุก จำเลยที่ 5/15 /16/22/23/29/31/36/37/40 คนละ 12,255 ปี และจำคุกจำเลยที่ 17/19/และนายนที ธีระโรจนพงษ์ จำเลยที่ 27 คนละ 12,257 ปี แต่ตามกฎหมายให้จำคุก 20 ปี
และให้ปรับจำเลยที่ 42 บริษัท ยูเทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นเงิน 1,225,700,000  บาท โดยให้ร่วมกันคืนเงินที่กู้ยืมและฉ้อโกงไปรวม 356,211,209 บาท แก่ผู้เสียหาย 2,451 คน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี


ส่วนจำเลยที่เหลืออีก 21 คน พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ซึงหนึ่งในจำนวนนี้คือ นายศิริโชค สิริวรรณภา อดีตสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเป็นจำเลยที่ 41 พิพากษายกฟ้อง