กรมอนามัยเผยคนไทยล้างมือหลังเข้าห้องน้ำ ห้องส้วม และก่อนกินอาหารเพียง 25% เท่านั้น แนะ 7 กระบวนท่าล้างมืออย่างถูกวิธีห่างไกลโรค
เมื่อวันที่ 9 ต.ค. นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 15 ต.ค.ของทุกปีเป็น "วันล้างมือโลก" เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทั่วโลกล้างมือด้วยอย่างถูกวิธี เป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค เพราะมือเป็นอวัยวะสำคัญที่นำเชื้อเข้าสู่ร่างกาย 3 ทาง ได้แก่ ทางปาก ทางจมูก และผิวหนัง นำไปสู่โรคติดต่อทางเดินอาหารหลายโรค เช่น อุจจาระร่วง โรคตับอักเสบชนิดเอ โรคบิด อหิวาตกโรค โรคพยาธิชนิดต่างๆ โรคติดต่อจากการสัมผัสโดยตรง เช่น โรคมือ เท้า ปาก โรคตาแดง แผลอักเสบที่ผิวหนัง ซึ่งการล้างมืออย่างถูกวิธี จะสามารถลดความเสี่ยงจากโรคท้องร่วงได้ถึง ร้อยละ 50 และโรคปอดบวม ร้อยละ 25
นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า ข้อมูลการสำรวจของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เดือน ต.ค. 2559 พบว่าพฤติกรรมการล้างมือของคนไทยวัยทำงาน อายุ 15 ปีขึ้นไป จากกลุ่มตัวอย่าง 512 คน มีพฤติกรรมมือสะอาด คือล้างมือฟอกสบู่ติดเป็นนิสัย กระทำทุกครั้งหลังจากเข้าห้องน้ำห้องส้วม และก่อนกินอาหาร เพียงร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 คน ผู้หญิงล้างมือมากกว่าผู้ชายประมาณร้อยละ 10 ประชาชนจึงควรให้ความสำคัญและใส่ใจเรื่องของการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ครบ 7 ขั้นตอน ได้แก่ 1.ฝ่ามือถูกัน 2.ฝ่ามือถูหลังมือและนิ้วถูซอกนิ้ว 3.ฝ่ามือถูฝ่ามือและนิ้วถูซอกนิ้ว 4.นิ้วมือถูฝ่ามือ 5.ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ 6.ปลายนิ้วมือถูขวางฝ่ามือ และ 7.ถูรอบข้อมือ
“ทั้งนี้ ประชาชนที่จะไปร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ บริเวณสนามหลวงนั้น เนื่องจากจุดนั้นจะมีการบริการอาหาร น้ำดื่ม ฟรี ประชาชน จึงต้องมีความเข้าใจและมีพฤติกรรมสุขอนามัยที่ดี โดยเฉพาะการล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังจากเข้าส้วม แต่ในกรณีที่ไม่สะดวกล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้ใช้เจลล้างมือแทนได้ ซึ่งหาซื้อได้ง่าย พกติดตัวได้ตลอดเวลา” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว