เซี่ยงไฮ้, 16 ม.ค. (ซินหัว) — ยานโคจรประจำภารกิจสำรวจดาวอังคารเทียนเวิ่น-1 (Tianwen-1) ของจีน พร้อมด้วยยานมาร์ส เอกซ์เพรส (Mars Express) ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ดวงอาทิตย์เข้าใจสิ่งที่เกิดใกล้กับดวงอาทิตย์มากขึ้นระหว่างช่วง “เกือบหยุดปฏิบัติหน้าที่” ในปี 2021
ยานโคจรของจีนเผชิญปรากฏการณ์ดาวอังคารโคจรมาอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์ครั้งแรกระหว่างช่วงปลายเดือนกันยายน-กลางเดือนตุลาคม 2021 เมื่อการติดต่อสื่อสารกับโลกถูกรบกวนจากรังสีดวงอาทิตย์อย่างมีนัยสำคัญ โดยปรากฏการณ์นี้เป็นปรากฏการณ์ที่โลกและดาวอังคารโคจรมาอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เกือบเป็นระนาบตรง
รายงานระบุว่ายานเทียนเวิ่น-1 และยานมาร์ส เอกซ์เพรส ส่งสัญญาณหลายครั้งระหว่างเกิดปรากฏการณ์ ทำให้กล้องโทรทรรศน์วิทยุบนโลกสามารถตรวจสอบผลกระทบต่อสัญญาณเหล่านั้นได้
ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ผ่านวารสารแอสโตรฟิสิคอล เจอร์นัล เลตเตอร์ส (Astrophysical Journal Letters) เมื่อไม่นานนี้ เปิดเผยว่าเหตุการณ์เปลวสุริยะ (solar flare) รุนแรงที่เรียกว่าการปลดปล่อยมวลของดวงอาทิตย์ (CME) ก่อให้เกิดการรบกวนที่สังเกตได้นาน 10 นาที ในวันที่ 9 ต.ค. 2021 เมื่อจุดฉายของดาวอังคารที่ใกล้กับดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากศูนย์กลางดวงอาทิตย์เป็นระยะทาง 2.6 เท่าของรัศมีดวงอาทิตย์
นอกจากนั้นผลการศึกษาที่นำโดยคณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) รายงานการตรวจพบคลื่นชั้นบรรยากาศโคโรนาใกล้กับจุดฉาย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์สะท้อนกระบวนการที่สนามแม่เหล็กจำกัดลมสุริยะ
ทีมวิจัยยังระบุลมสุริยะปฐมภูมิที่มีความเร็วสูงเมื่อการปลดปล่อยมวลของดวงอาทิตย์ยุติลง โดยมีการตรวจพบลมสุริยะความเร็วสูงใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าที่คาดการณ์ไว้
อนึ่ง ภารกิจสำรวจดาวอังคารเทียนเวิ่น-1 ของจีน ซึ่งประกอบด้วยยานโคจร ยานลงจอด และยานสำรวจ ถูกปล่อยสู่อวกาศเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2020
(ภาพจากผู้ให้สัมภาษณ์ : ภาพจำลองตำแหน่งของโลก ดาวอังคาร และดวงอาทิตย์ระหว่างปรากฏการณ์ดาวอังคารโคจรมาอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์)
(ภาพจากผู้ให้สัมภาษณ์ : ภาพจำลองยานโคจรของภารกิจสำรวจดาวอังคาร “เทียนเวิ่น-1” ของจีน และยาน “มาร์ส เอกซ์เพรส” ขององค์การอวกาศยุโรป ระหว่างปรากฏการณ์ดาวอังคารโคจรมาอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์)