เยรูซาเล็ม, 25 พ.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันพุธ (24 พ.ค.) มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟของอิสราเอล เปิดเผยการค้นพบว่าโรคระบาดร้ายแรงได้คร่าชีวิตประชากรเม่นทะเลดำทั้งหมดในอ่าวอคาบา (Gulf of Aqaba) ของทะเลแดง ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของอ่าวดังกล่าว
การหายไปของเม่นทะเลดำนำไปสู่การคุกคามแนวปะการังของอ่าวอคาบา ซึ่งมีชายฝั่งติดกับอิสราเอล จอร์แดน ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์ เนื่องจากเม่นทะเลดำกินสาหร่ายเป็นอาหาร และป้องกันไม่ให้สาหร่ายยึดครองและเบียดบังปะการังที่เป็นคู่แข่งแย่งชิงแสงอาทิตย์กัน
คณะนักวิจัยคาดการณ์ว่าประชากรเม่นทะเลดำทั้งหมด ทั้งในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดง จะป่วยและล้มตายในไม่ช้า เนื่องจากมีรายงานพบการล้มตายเป็นวงกว้างบริเวณนอกชายฝั่งของกรีซและตุรกี (ทูร์เคีย) แล้ว
ทีมนักวิจัยได้ส่งรายงานด่วนกรณีดังกล่าวไปยังหน่วยงานด้านธรรมชาติและอุทยานอิสราเอล (NPA) พร้อมเรียกร้องให้มีการจัดตั้งแหล่งเพาะพันธุ์ประชากรเม่นทะเลดำ เพื่อปล่อยเม่นสายพันธุ์นี้คืนสู่ธรรมชาติยามจำเป็น
ทั้งนี้ กลุ่มนักวิจัยตั้งสมมุติฐานว่าต้นตอโรคระบาดร้ายแรงนี้มาจากปรสิตซิลิเอตที่ก่อให้เกิดโรค ซึ่งแพร่กระจายจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสู่ทะเลแดง
(แฟ้มภาพซินหัว : ชายฝั่งริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่เมืองเฮอร์เซอลียา ใกล้กับเมืองเทลอาวีฟของอิสราเอล วันที่ 20 ก.ค. 2022)