โตเกียว, 6 ส.ค. (ซินหัว) — วันอาทิตย์ (6 ส.ค.) ญี่ปุ่นจัดงานรำลึก 78 ปี เหตุทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมาทางตะวันตกของประเทศ ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้ญี่ปุ่นตริตรองถึงความโหดร้ายที่กองทัพญี่ปุ่นได้กระทำในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
คาซูมิ มัตซุย (Kazumi Matsui) นายกเทศมนตรีเมืองฮิโรชิมา ประกาศปฏิญญาสันติภาพ ณ พิธีรำลึกที่จัดขึ้นที่สวนอนุสรณ์สันติภาพ โดยเรียกร้องให้ผู้นำระดับโลกละทิ้งทฤษฎีการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์
“พวกเขา (ผู้นำระดับโลก) ต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมทันทีเพื่อพาเราออกจากปัจจุบันที่อันตราย ไปสู่โลกในอุดมคติของเรา” มัตซุยกล่าว โดยเขาเรียกร้องให้เหล่าผู้กำหนดนโยบาย “มุ่งหน้าสู่ระบอบความมั่นคงที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อใจ ผ่านการเจรจา เพื่อแสวงหาอุดมคติของภาคประชาสังคม”
“ความคลางแคลงใจและความแตกแยกกำลังเพิ่มขึ้น” อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวเตือนผ่านข้อความของเขาที่ได้รับการอ่านในพิธีรำลึก
พิธีสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัยให้ผู้เสียชีวิตเริ่มขึ้นเมื่อ 08.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตรงกับเวลาที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูลงสู่ฮิโรชิมา เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 1945 คร่าชีวิตผู้คนไปราว 140,000 ราย เมื่อนับถึงสิ้นปีนั้น
ปีนี้มีผู้เข้าร่วมพิธีประมาณ 50,000 คน โดยมัตซุยได้วางรายชื่อเหยื่อ 339,227 ราย ไว้ในอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงผู้ล่วงลับ ในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันเมื่อปีที่แล้ว 5,320 ราย
“ญี่ปุ่นต้องร่วมลงนามในสนธิสัญญาการห้ามอาวุธนิวเคลียร์โดยทันที” มัตซุยระบุในคำปฏิญญาสันติภาพ และกระตุ้นให้รัฐบาลรับฟังความปรารถนาของผู้รอดชีวิตจากเหตุทิ้งระเบิดครั้งนั้นและชาวญี่ปุ่นผู้รักสันติภาพ
กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นรายงานว่า จำนวนผู้รอดชีวิตจากเหตุระเบิดปรมาณู 2 ครั้งที่เกิดขึ้นในเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ซึ่งมีอายุเฉลี่ยมากกว่า 85 ปีนั้น ลดลง 5,346 คนจากปีก่อนหน้า เหลืออยู่ที่ 113,649 คน ณ เดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากฮิโรชิมา กล่าวในพิธีนี้โดยไม่ได้ระบุว่าญี่ปุ่นจะลงนามในสนธิสัญญาข้างต้นหรือไม่ และย่อมไม่ได้กล่าวถึงบริบททางประวัติศาสตร์ของเหตุทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา
ฟูมิโอะ คิชิดะเคยถูกวิจารณ์กรณีจัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G7 ที่เมืองฮิโรชิมา เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ว่าเป็นการสร้างกระแสทางการเมือง
ในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังมองโศกนาฏกรรมที่ตนประสบในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างลึกซึ้ง นักประวัติศาสตร์และนักคิดทางการเมืองจากประชาคมระหว่างประเทศกลับสนับสนุนให้ญี่ปุ่นมองตัวเองไม่ใช่เพียงในฐานะเหยื่อของระเบิดปรมาณู หากแต่เป็นผู้ก่อกรรมที่มีส่วนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมเหล่านี้ด้วยตั้งแต่แรก
โทชิยูกิ ทานากะ (Toshiyuki Tanaka) นักประวัติศาสตร์และศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยเมืองฮิโรชิมา กล่าวไว้ว่า ครั้งหนึ่งญี่ปุ่นเคยเป็นผู้รุกรานที่กระทำสิ่งเหี้ยมโหดต่อหลายประเทศและภูมิภาคในเอเชีย เช่น จีนและคาบสมุทรเกาหลี ญี่ปุ่นจงใจปกปิดประวัติศาสตร์อันอัปลักษณ์ของตนในฐานะผู้กระทำผิด ด้วยการย้ำซ้ำๆ ว่าตนเป็น “ประเทศเดียวที่ต้องเผชิญเหตุระเบิดปรมาณู”
การเปลี่ยนแปลงนโยบายกลาโหมของรัฐบาลญี่ปุ่นครั้งล่าสุด ซึ่งระบุไว้ในเอกสารด้านความมั่นคงฉบับปรับปรุง ทำให้เกิดความกังวลอย่างยิ่งยวด เพราะมีการให้คำมั่นว่าจะเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารเพื่อโจมตีศัตรูของประเทศอย่างแข็งขัน และงบทางทหารก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งไม่สอดคล้องอย่างมากกับมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น ที่ปฏิเสธการทำสงครามและกำหนดแนวทางสันตินิยมหลังสงคราม
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นรุกรานและยึดครองหลายภูมิภาคของเอเชียอย่างโหดร้าย ทั้งก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ผู้บริสุทธิ์หลายล้านคนกลายเป็นเหยื่อที่ต้องทนทุกข์ บาดเจ็บ และล้มตาย
(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้คนชุมนุมประท้วงต่อต้านการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G7 ในเมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่น วันที่ 21 พ.ค. 2023)