นักวิจัย แนะปรับวงจรระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ให้เร็วขึ้น 2 ชั่วโมงเพื่อสุขภาพ ช่วยลดภาวะเสี่ยงโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด
นักวิจัย เปิดเผยว่า คนที่มักชอบนอนดึก เมื่อต้องตื่นเช้าในวันรุ่งขึ้นจะพบว่าส่วนใหญ่เกิดอาการนอนไม่พอ สมองไม่แจ่มใส อ่อนเพลีย นำไปสู่การเกิดสารพัดโรคติดตามมาในระยะยาวได้
ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากอังกฤษและออสเตรเลียพบว่า สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพนี้ได้ด้วยการปรับวงจรระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ หรือ "นาฬิการ่างกาย" ให้เดินเร็วขึ้นสัก 2-3 ชั่วโมง โดยมีการทดลองกับกลุ่มคนที่นอนดึกจนเป็นนิสัย 21 คน เฉลี่ยแล้วคนเหล่านี้มักเข้านอนในเวลา 02.30 น. และตื่นนอนในเวลา 10.00 น.เป็นประจำ โดยกลุ่มผู้เข้ารับการทดลองต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้วิจัยเป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อปรับนาฬิการ่างกายให้เดินเร็วขึ้นกว่าเดิม โดยมีข้อบังคับว่า ต้องตื่นนอนให้เร็วขึ้นกว่าเดิม 2-3 ชั่วโมง และต้องออกไปกลางแจ้งเพื่อรับแสงแดดยามเช้าให้เพียงพอ เมื่อตื่นแล้วให้กินอาหารเช้าโดยเร็วที่สุด และต้องออกกำลังกายในตอนเช้าเท่านั้น ต้องกินอาหารกลางวันให้ตรงเวลาทุกวัน และไม่กินอะไรอีกหลังเวลา 19.00 น. และไม่รับกาเฟอีนเข้าร่างกาย หรือดื่มกาแฟหลังเวลา 15.00 น. เข้านอนเร็วกว่าเดิม 2-3 ชั่วโมง ไม่เปิดไฟสว่างจ้าตอนกลางคืน พยายามรักษาวงจรการหลับและตื่นให้คงที่ตามเวลาเดิมทุกวัน
เมื่อการทดลองสิ้นสุดลง พบว่า ความรู้สึกง่วงเหงาหาวนอนในตอนกลางวันของคนกลุ่มนี้ลดลงอย่างมาก รวมทั้งระดับความเครียดและอาการซึมเศร้าที่มีก็ลดน้อยลง อีกทั้งยังมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ ได้ว่องไวขึ้นด้วย
ศาสตราจารย์ เดบรา สกีน ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม บอกว่า แม้วิธีนี้จะฟังดูเหมือนคำแนะนำเพื่อปรับปรุงคุณภาพการนอนเหมือน ทั่วๆ ไป แต่ช่วยให้สุขภาพกายและจิตของคนนอนดึกดีขึ้นอย่างมาก อีกทั้งยังป้องกันการเกิดโรคร้าย เช่นมะเร็ง /เบาหวาน หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเกิดจากการนอนไม่เพียงพอนั่นเอง