“มาลัยนวมคอ” และ “อุบะไทยระย้าทรงเครื่อง” สำหรับคล้องเรือพระที่นั่งทั้ง 4 ลำ ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 มีจำนวน 4 พวง ดังนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง “4 เรือพระที่นั่งสำคัญ” ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
1. มาลัยนวมคอเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สีขาวเหลือบทอง
2. มาลัยนวมคอเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ ๙ สีขาวเหลืองทอง
3. มาลัยนวมคอเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สีขาวเหลือบเขียว
4. มาลัยนวมคอเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สีขาวเหลือบชมพู
โดยส่วนที่เป็นตัวมาลัยนวมคอคล้องโขนเรือ ด้านในเป็นผ้าตาดสีทอง สีเขียว สีชมพู เย็บบุเป็นแกนในแล้วคลุมด้วยดอกรักเทียมเป็นการร้อยตาข่ายลายสี่ก้านสี่ดอก อุบะไทยระย้าทรงเครื่อง เป็นเครื่องแขวนไทยรูปโครงดาวที่มุมทั้ง 6 มุม มีวงกลมซ้อนด้านใน 2 วง เป็นสายลดหลั่นกัน ประกอบด้วยตาข่ายหน้าช้าง มีพวงดอกไม้รูปทรงกลมพวงเล็กทั้งหมด 6 พวง ปลายอุบะทำจากผ้าเป็นดอกกุหลาบสีแดง ดอกทัดหูกลมสีแดง 6 ดอกและสีเหลือง 6 ดอก ความสูงของอุบะอยู่ที่ 28 นิ้ว
การคล้องมาลัยนวมคอนั้น สามารถปรับเลื่อนระดับได้ตามความเหมาะสม โดยที่ตัวอุบะจะไม่เรี่ยไปกับระดับผิวน้ำ ทั้งหมดนี้เป็นฝีมือของคณะอาจารย์และนักเรียนจากภาควิชาคหกรรม โรงเรียนสตรีวัดระฆัง
ในอดีต มาลัยสำหรับคล้องคอเรือพระที่นั่งใช้มาลัยดอกไม้สดยังไม่ใช้มาลัยนวมคอห้อยอุบะในแบบปัจจุบัน โดยปี 2502 เป็นปีแรกที่ทางโรงเรียนสตรีวัดระฆังได้ทำมาลัยนวมคอและอุบะไทยระย้าทรงเครื่องให้แก่เรือพระที่นั่งทั้ง 3 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
จุดเริ่มต้นของการทำมาลัยนวมคอมาจาก นาวาโทสวัสดิ์ พูลสุข ผู้บังคับกองเรือเล็กในขณะนั้น ได้ติดต่อทางโรงเรียนสตรีวัดระฆังผ่านทางอาจารย์ปราณี พูลสุข บุตรสาวของท่าน ซึ่งเป็นทั้งศิษย์เก่าและเป็นอาจารย์โรงเรียนสตรีวัดระฆังในขณะนั้น ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่ง ดร.ปราณี ศิริจันทพันธ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยเหตุผลที่เลือกให้ทางโรงเรียนสตรีวัดระฆังเป็นผู้ทำมาลัยนวมคอและอุบะนั้น ด้วยเห็นว่าทางโรงเรียนมีชื่อเสียงในงานฝีมือด้านดอกไม้ใบตอง สามารถทำได้อย่างประณีตสวยงาม และชนะการประกวดอยู่เสมอนั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก Facebook : เรือพระราชพิธี
“รูปแบบริ้วขบวนพยุหยาตราฯ” งดงามเหนือลำน้ำเจ้าพระยา
แรกมีประเพณีโบราณ “กระบวนพยุหยาตราชลมารค”