วธ.เผยผลโพล "วันวิสาขบูชา" ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งใจลด ละ เลิก อบายมุข ตั้งใจไหว้พระสวดมนต์ที่บ้าน
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชนที่มีต่อวันวิสาขบูชาในสถานการณ์โควิด – 19 ในรูปแบบออนไลน์ “อยู่บ้าน สร้างบุญ” จากผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน 7,507 คนครอบคลุมทุกภูมิภาค ผลสำรวจพบว่าเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.25 ทราบว่า “วิสาขบูชา” ย่อมาจากคำว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ” ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 26 พ.ค. 2564 เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ส่วนความสำคัญของวันวิสาขบูชา ผู้ตอบแบบสอบถามอันดับ 1 ร้อยละ 78.38 เห็นว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ อันดับ 2 ร้อยละ 73.50 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อันดับ 3 ร้อยละ 69.55 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานและอันดับ 4 ร้อยละ 52.88 เป็นวันสำคัญสากลของโลก
รมว.วัฒนธรรม กล่าวอีกว่า เมื่อสอบถามถึงหลักธรรมในวันวิสาขบูชา ผู้ตอบแบบร้อยละ 92.83 ทราบว่าหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ในวันวิสาขบูชาคือ “อริยสัจ 4” ประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ส่วนกิจกรรมที่เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ตั้งใจจะทำในวันวิสาขบูชาปีนี้พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 63.47 ลด ละ เลิก อบายมุข อันดับ 2 ร้อยละ 59.01 ทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับและเจ้ากรรมนายเวร และอันดับ 3 ร้อยละ 55.47 รักษาศีล ไม่ว่าร้าย ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส นอกจากนี้ ผลสำรวจได้ถามถึงหลักธรรมที่ยึดเป็นแนวทางปฏิบัติและนำมาใช้ในชีวิตประจำวันในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 76.97 ศีล คือ มีระเบียบวินัยในตนเองและเคารพต่อกฎระเบียบสังคม เช่น มาตรการป้องกันของรัฐบาล อันดับ 2 ร้อยละ 66.64 สติ คือ การรู้ตนเองเสมอว่า ไม่ควรใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปากและอันดับ 3 ร้อยละ 66.20 สมาธิ คือ ตั้งมั่นทำสิ่งใดด้วยความตั้งใจ เช่น ล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วธ.ได้ปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมวันวิสาขบูชามุ่งเน้นประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ในรูปแบบออนไลน์ “อยู่บ้าน สร้างบุญ”ให้พุทธศาสนิกชนทราบถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผู้ตอบแบบสอบระบุกิจกรรมที่สนใจเข้าร่วม อันดับ 1 ร้อยละ 64.11 ไหว้พระสวดมนต์ที่บ้าน อันดับ 2 ร้อยละ 47.36 ตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรมออนไลน์และอันดับ 3 ร้อยละ 45.65 เวียนเทียนออนไลน์ นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงกิจกรรม/วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ควรสืบสาน รักษาอย่างเร่งด่วน ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า วันอัฏฐมีบูชา แรม 8 ค่ำ เดือน 6 คือ วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า หลังพระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานได้ 8 วัน ซึ่งชาวบ้านจะประกอบพิธี ตามแต่ความศรัทธาของแต่ละท้องถิ่น มีการจัดกิจกรรม เช่น ทำบุญ ตักบาตร และเวียนเทียน อีกทั้งควรจัดกิจกรรมแข่งขันสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะ การแข่งขันตอบปัญหาธรรมะ เพราะเป็นกิจกรรมที่สามารถสอดเเทรกความรู้ สาระที่มีประโยชน์ ช่วยกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น