รู้แต่ว่าชิมแล้วจะติดใจ "โบวี่ อัฐมา" ฮาแตก ! งง "สลิ่ม" คืออะไร ชาวเน็ตรุมแซะสนุกเพลินกันไป
ช่วงนี้เราๆ ท่านๆ ทั้งโลกโซเชียลและสื่อต่างๆ ทั่วไป มักมีคำศัพท์ที่ได้ยินบ่อยๆ เกี่ยวข้องกับการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมือง อาทิ "สลิ่ม" , "สามกีบ" , "นักเรียนเลว" หรือคำต่างๆ นานาที่หยิบขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์แทนการมีอยู่ของกลุ่มต่างๆ ซึ่งกับคำว่า "สลิ่ม" วันนี้มีหลายคนสงสัยว่าคืออะไร ดังเช่นดาราสาวสวยพราวและเก่ง อย่าง "โบวี่ อัฐมา" กำลังเกิดอาการ "งง" ว่ามันคืออาหารหวานหรือคำ "ด่า" กันแน่ ? ซึ่งวันนี้เรามีคำตอบจะมาบอกคุณๆ กัน
สำหรับ เจ้า "ซ่าหริ่ม" หรือ "ซาหริ่ม" นั้น เป็นขนมไทยประเภทหนึ่งมีลักษณะเป็นเส้นที่มักมีหลายสีและรับประทานกับน้ำกะทิโดยมีรสชาติหอมมันและมีกลิ่นใบเตยอีกด้วย ซ่าหริ่มมีขายอยู่ตามตลาดทั่วไปในประเทศไทยและเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก และรับประทานกันได้ทุกฤดู รับประทานโดยเติมน้ำเชื่อมและน้ำแข็ง ส่วนผสมสำคัญมีแป้งถั่วเขียว น้ำลอยดอกมะลิ น้ำตาลทราย น้ำใบเตยคั้น และ น้ำกะทิ ปัจจุบันส่วนผสมอาจเปลี่ยนเล็กน้อย เช่น ใช้สีสังเคราะห์แทนสีธรรมชาติ และใช้แป้งสำเร็จรูปที่หาซื้อได้ง่าย
แต่สิ่งที่ "โบวี่ อัฐมา" กำลังสงสัยอยู่คือคำว่า "สลิ่ม" ซึ่งโดยความหมายแล้วและการเขียนแล้วแตกต่างจาก "ซ่าหริ่ม" อย่างสิ้นเชิง เพราะคำว่า "สลิ่ม" นั้นเป็นการใช้คำผิดเพื่อเรียกกลุ่มคนบางกลุ่มเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองมาตั้งแต่ต้น จนหลายคนคิดว่าเป็นชื่อขนมหวานไปเสียแล้ว แท้จริงแล้วนั้น คำว่า "สลิ่ม" ไม่มีในโลก
และกับประเด็น "โบวี่" ขำ! ถูกโยงว่าเป็นสลิ่ม สงสัย อะไรคือ "สลิ่ม" เป็นคำด่าเหรอ ต้องเจ็บไหม รู้แค่อร่อย ได้ลองจะติดใจ ชาวเน็ตสอน ขนมหวาน เรียก "ซ่าหริ่ม" แต่ "สลิ่ม" ใช้เรียกอย่างอื่น ...
ซึ่งก่อนหน้านี้ นักแสดงสาว "โบวี่ อัฐมา" โดนกระหน่ำจวกไม่ใช่น้อย หลังจากที่เข้าไปแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ของดารารุ่นพี่อย่าง "อ๋อม สกาวใจ" เรื่องวัคซีนโควิด จนชาวโซเชียลต่างพากันแขวะว่าเธอเป็น "สลิ่ม"
ล่าสุด โลกออนไลน์ได้มีการแชร์คอมเมนต์ของเธอ ที่เคยตอบถึงคำนิยามคำว่า "สลิ่ม" ทุกวันนี้ยังไม่เข้าใจว่า "สลิ่ม" หมายถึงอะไร เป็นคำด่าหรือ ? ต้องเจ็บไหม ? รู้แค่ว่าอร่อย ถ้าได้ลองกินอาจจะติดใจ ฮิฮิ
งานนี้ชาวโซเชียลจึงจับกระทู้นี้ไปวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นวงกว้าง ซึ่งมีคนเข้ามาตอบสาว "โบวี่" หลายคนด้วยกัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเชิงแซะเธอเสียมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553 ซึ่งกลุ่มผู้สนับสนุนทางการเมืองใช้สีเสื้อในการระบุอัตลักษณ์ทางการเมือง ได้มีการเปรียบเทียบกลุ่มเสื้อหลากสีเป็น "สลิ่ม" เพราะมีหลายสี โดยเชื่อว่ามีที่มาจากคำเรียกในเว็บบอร์ดพันทิป.คอม