เรื่องเล่าจาก "ทุเรียน" ดาวเด่นตลาดจีน พลิกชีวิตเกษตรกรไทย

2022-12-18 14:30:25

เรื่องเล่าจาก "ทุเรียน" ดาวเด่นตลาดจีน พลิกชีวิตเกษตรกรไทย

Advertisement

ฉงชิ่ง, 18 ธ.ค. (ซินหัว) — เมื่อไม่นานนี้ บริษัท ฉงชิ่ง หงจิ่ว ฟรุต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าและจัดจำหน่ายผลไม้ชั้นนำของจีน ได้รับการยกเป็นกรณีศึกษาการลดความยากจนที่ดีที่สุด และแบบอย่างของความร่วมมือใต้-ใต้ ณ กิจกรรมนำเสนอแนวทางลดความยากจนที่ดีที่สุด ครั้งที่ 3

กิจกรรมข้างต้นจัดขึ้นภายใต้การสนับสนุนร่วมจากศูนย์การลดความยากจนนานาชาติจีน (IPRCC) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB)

บริษัท ฉงชิ่ง หงจิ่ว ฟรุต จำกัด ตั้งอยู่ที่เทศบาลนครฉงชิ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ทำธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายผลไม้หลายชนิด อาทิ ทุเรียนและลำไย ซึ่งมีต้นทางจากไทยและลาวเป็นหลัก ในกว่า 300 เมืองทั่วจีน โดยหงจิ่ว ฟรุต เข้าตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ทุเรียนถือเป็นผลไม้นำเข้า “ดาวเด่น” ของหงจิ่ว ฟรุต โดยยอดจำหน่ายทุเรียนรายปีของหงจิ่ว ฟรุต ในปี 2021 สูงเกิน 9 หมื่นตัน คิดเป็นร้อยละ 10.06 ของทุเรียนนำเข้าจากไทยทั้งหมดในจีน หรือหมายความว่าทุเรียนหนึ่งในสิบลูกที่จำหน่ายในจีนมาจากหงจิ่ว ฟรุต

ราชาผลไม้อย่างทุเรียน ไม่เพียงตอบสนองความต้องการบริโภคผลไม้ขั้นสูงของตลาดจีน แต่ยังพลิกเปลี่ยนชะตาชีวิตของเหล่าเกษตรกรไทยดังเช่น ณัฐกฤษฏ์ โอฬารหิรัญรักษ์ เกษตรกรจากจังหวัดจันทบุรี วัย 52 ปี ที่ไม่เคยคิดว่าทุเรียนจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาและเพื่อนร่วมอาชีพ

สวนผลไม้ของณัฐกฤษฏ์เมื่อหลายปีก่อนปลูกผลไม้หลายชนิด ทั้งทุเรียน มังคุด และเงาะ แต่หลังจากเล็งเห็นความต้องการทุเรียนของตลาดจีน เขาจึงเปลี่ยนมาปลูกทุเรียนทั้งหมดจนปัจจุบันมีต้นทุเรียนสูงถึง 4,000 ต้น และทำข้อตกลงความร่วมมือทางการค้ากับหงจิ่ว ฟรุต ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา

“หลายปีก่อน ทุเรียนหนึ่งกิโลกรัมมีราคาไม่กี่สิบบาท ช่องทางจำหน่ายไม่แน่นอน และยอดจำหน่ายไม่สูงมาก แต่ตอนนี้ราคาช่วงฤดูทุเรียนไม่ต่ำกว่า 200 บาท ยอดจำหน่ายและรายได้เพิ่มขึ้น” ณัฐกฤษฏ์กล่าว พร้อมเสริมว่าทุเรียนเปลี่ยนชีวิตของเขาและเกษตรกรรอบตัว

ณัฐกฤษฏ์เล่าว่าปัจจุบันเขามีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านบาท เป็น 20 ล้านบาทต่อปี สวนผลไม้ของเขาเปลี่ยนจากธุรกิจแบบสามีภรรยาทำกันเองเป็นธุรกิจที่มีพนักงานประจำ 14 คน พร้อมคนงานที่อาจมีจำนวนสูงถึง 50 คนต่อวัน และได้ค่าจ้างในบางช่วงเวลาสูงถึง 800 บาทต่อวัน

นอกจากนั้นการมีหงจิ่ว ฟรุต เป็น “ทัพหน้า” การันตีช่องทางจัดจำหน่ายผลไม้ ยังช่วยให้ชาวสวนอย่างณัฐกฤษฏ์ที่เป็น “ทัพหลัง” วางใจจะเดินหน้าปลูกทุเรียน ซึ่งกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและไทยด้วย

ณัฐกฤษฏ์วางแผนขยายสวนผลไม้ของเขาในอนาคตข้างหน้า เพื่อเพิ่มการปลูกทุเรียนคุณภาพดียิ่งขึ้นสำหรับตลาดจีน และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเขาและเพื่อนร่วมอาชีพให้ดีกว่าเดิมอย่างต่อเนื่อง

อนึ่ง ปริมาณการส่งออกทุเรียนจากไทยสู่จีน ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ พุ่งสูงเกิน 5 แสนตัน เกือบเทียบเท่ายอดส่งออกทุเรียนของทั้งปี 2020 และมีแนวโน้มทำสถิติรายปีสูงเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่

เติ้งหงจิ่ว ผู้ก่อตั้งและประธานของหงจิ่ว ฟรุต เผยว่าสำหรับการค้าผลไม้ระหว่างจีนและไทยในอนาคต หงจิ่ว ฟรุต จะส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการพัฒนาอุตสาหกรรม สร้างระบบห่วงโซ่อุปทานดิจิทัล เชื่อมโยงแหล่งทรัพยากรต้นน้ำถึงปลายน้ำทั้งในและนอกประเทศ และกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้ในพื้นที่ยากจนทั้งในและนอกประเทศ

นอกจากนั้นหงจิ่ว ฟรุต จะเดินหน้าสนับสนุนแผนริเริ่มการพัฒนาระดับโลก (GDI) ร่วมเสริมสร้างการพัฒนาแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) และอัดฉีดแรงกระตุ้นสู่การบรรเทาความยากจนระดับโลก รวมถึงการฟื้นฟูชนบท

(ภาพจากผู้ให้สัมภาษณ์ : คนงานเก็บเกี่ยวและขนย้ายทุเรียนหมอนทองในสวนทุเรียนที่จังหวัดจันทบุรี)

(ภาพจากผู้ให้สัมภาษณ์ : คนงานถือทุเรียนหมอนทองที่เพิ่งเก็บเกี่ยวในสวนทุเรียนที่จังหวัดจันทบุรี)

(ภาพจากผู้ให้สัมภาษณ์ : คนงานเก็บเกี่ยวทุเรียนหมอนทองในสวนทุเรียนที่จังหวัดจันทบุรี)

(ภาพจากผู้ให้สัมภาษณ์ : คนงานเก็บเกี่ยวทุเรียนหมอนทองในสวนทุเรียนที่จังหวัดจันทบุรี)