ตามรอย...กลุ่มสตรีทอผ้าไหม “บ้านเสี้ยวน้อย"เมืองพญาแล

2018-02-04 19:25:26

ตามรอย...กลุ่มสตรีทอผ้าไหม “บ้านเสี้ยวน้อย"เมืองพญาแล

Advertisement

กลุ่มสตรีทอผ้าไหม “บ้านเสี้ยวน้อย” เป็นกลุ่มที่สร้างผลิตภัณฑ์ จนได้รับตราสัญญาลักษณ์แสดงถึงการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รับรองโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม G แสดงถึง green production เป็นการรับรองประเภทสิ่งทอ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ทอง (ดีเยี่ยม) เงิน (ดีมาก) และทองแดง (ดี) จะมีอายุการรับรอง 3 ปี


จากสมาชิกกว่า 80 คน ด้วยการนำของของ “แม่มาลา” หรือ นางมาลา วรรณพงศ์ บ้านเลขที่ 6/1 หมู่ที่ 1 บ้านเสี้ยวน้อย ต.บ้านเล่า อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ อายุ 60 ปี ประธานกลุ่มสตรีทอผ้าไหม บ้านเสี้ยวน้อย เป็นแหล่งหมู่บ้านหนึ่งที่ได้รับรางวัลมากมาย ทั้งด้านการพัฒนาหมู่บ้าน จนเป็นหมู่บ้านตัวอย่างศีลห้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จนเป็นสินค้าโอท็อปคุณภาพ อย่างเช่นผ้าไหมทอมือ ที่กลุ่มแม่บ้านเสี้ยวน้อยได้ร่วมมือกันการเรียนรู้ ตั้งแต่ปลูกหม่อน เพื่อเลี้ยงไหมพื้นบ้าน และปลูกมันสำปะหลัง เพื่อเลี้ยงไหมอิรี่ เมื่อได้รังไหมก็นำมาสู่กระบวนการ “สาวไหม” พร้อมนำไปแปรรูปพร้อมฟอกสี ย้อมสีทางธรรมชาติ โดยเฉพาะผ้าไหม “หมักโคลนธรรมชาติ” นำสู่ท้องตลาดจนสามารถสร้างรายได้เข้าหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี


ผ้าไหมบ้านเสี้ยวน้อย บรรพบุรุษได้ทอผ้าไหมมัดหมี่มาไม่น้อยกว่า 200-300 ปี เป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมของชาวบ้านที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่ผ่านมาการทำผ้าไหมของบ้านเสี้ยวน้อย ได้ทำแบบพื้นบ้าน สำหรับใช้สอยกันในครัวเรือน เพื่อใช้ในงานพิธีสำคัญ และของฝากสำหรับบุคคลพิเศษ ปัจจุบันผ้าไหมได้กลายเป็นเครื่องนุ่งห่มที่มีราคาสูง สวมใส่ในงานมงคล งานประเพณี วัฒนธรรมของท้องถิ่น เช่น งานแต่งงาน งานบวช มีการพัฒนาสีสัน ลวดลายตามธรรมชาติ ด้วยการย้อมสีผ้าไหมของทางกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเสี้ยวน้อย จะใช้วิธีทางธรรมชาติตามภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นวิถีชีวิตโบราณสืบสานสู่ผืนผ้าไหม ด้วยการนำวัสดุที่ได้จากธรรมชาติ ที่มีในหมู่บ้านทั้งจากพืช เช่น รากไม้ เปลือกไม้ แก่นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ ผล เปลือกผล และเมล็ด จากสัตว์ เช่น ครั่ง และจากแร่ธาตุ เช่น ดินโคลน ดินลูกรัง สนิมเหล็ก สนิมทองแดง มาใช้ในการย้อม หรือสารที่ช่วยในการย้อมสีเส้นไหม ด้วยความตระหนักถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือเป็นอันตรายต่อมนุษย์ผู้ใช้ผ้าไหม ตามกฎแห่งธรรมชาติที่ว่า “ชีวิตคือธรรมชาติ ธรรมชาติคือชีวิต”


ชาวชัยภูมิ มีประวัติการทอผ้ามาตั้งแต่ยาวนาน จากคำบอกเล่าและบันทึกบอกว่า ชาวชัยภูมิได้ผลิตผ้าไหมคุณภาพดีเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ตั้งแต่สมัยของ “พระยาภักดีชุมพล” หรือ “แล” เจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก ที่ชาวชัยภูมิให้ความเคารพเป็นอย่างสูง ซึ่งสมัยนั้น ท่านได้ส่งเครื่องบรรณาการไปถวาย ณ กทม. และเวียงจันทร์ ประเทศลาว และหนึ่งในเครื่องบรรณาการสำคัญ คือ ผ้าไหม ด้วยเหตุนี้จึงได้ทำให้ชาวบ้านมีภูมิปัญญาเรื่องของการทอผ้าไหมสะสมมาเป็นเวลาช้านาน และมีการพัฒนาการทอผ้าไหมจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักถึงในปัจจุบัน


การพัฒนาผ้าไหมของชาวชัยภูมิ จากอดีตสู่ปัจจุบัน บ่งบอกถึงความเป็นไทยนานแท้และความดั่งเดิม และยังนับได้ว่ามีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกับสังคมไทยที่สืบทอดกันมานาน นอกจากนี้ ผ้าไหมยังแสดงถึงศิลปวัฒนธรรมของสังคมไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศนภาลัย รัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา




ณ ปัจจุบันผ้าไหมที่ยังคงอยู่คู่ชาวไทยและชาวอีสาน เราได้มี “พระผู้ทรงสร้าง และสืบสานงานไหม” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงให้การสนับสนุนอาชีพการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม พร้อมแปรรูปเป็นสินค้าผ้าไหม เป็นอาชีพเสริมให้กับชาวบ้าน โดยพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมขึ้น ต่อมาได้ขยายออกไปทั่วภาคอีสาน และเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้กับราษฎรอย่างกว้างขวางถึงทุกวันนี้


สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลหรือเข้าชมกลุ่มสตรีทอผ้าไหม บ้านเสี้ยวน้อย ได้ที่ 087-2535284 (คุณแม่มาลา)