สธ. แจงเสนอจัดซื้อซิโนแวค 12 ล้านโดส เสนอผ่าน ศบค. โดย ครม. เห็นชอบตามระเบียบ ส่วนตัวเลขในเอกสารที่เผยแพร่ 6 ล้านโดสเป็นข้อมูลเก่า
เมื่อวันที่ 13 พ.ค.66 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลในโซเชียลมีเดียเรื่องเอกสารเกี่ยวกับการเสนอจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค 6 ล้านโดส แต่มติ ครม. อนุมัติ 12 ล้านโดส ว่า กรมควบคุมโรค ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว พบว่าเพจที่กล่าวอ้างมิได้ระบุว่าเป็นเอกสารใด แต่จากช่วงเวลาที่กล่าวอ้างน่าจะเป็นช่วงประมาณไตรมาส 3 ปี 2564 ซึ่งขณะนั้นมีการระบาดของโควิด 19 รุนแรง ศบค.โดยความเห็นชอบจาก ครม. มอบให้กระทรวงสาธารณสุขมีแผนเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ได้ความครอบคลุมสูงทุกกลุ่มเป้าหมาย แต่มีข้อจำกัดเรื่องวัคซีนหลายชนิดไม่สามารถจัดส่งให้ประเทศไทยได้ตามที่ตกลงกันไว้ เนื่องจากมีความต้องการเพิ่มขึ้นสูงทั่วโลก อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลผลการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชและจุฬาลงกรณ์ ว่าวัคซีนซิโนแวค โดยเฉพาะการฉีดแบบสูตรไขว้ มีความปลอดภัย มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อโควิด ลดการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตในระดับดี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและทันต่อสถานการณ์ จึงเสนอให้ซื้อวัคซีนซิโนแวคอีก 12 ล้านโดส ตามขั้นตอนผ่านที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) คณะอนุกรรมการฯ และ คกก.กลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ก่อนเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ เพื่อให้สามารถระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศได้ครบ 100 ล้านโดสตามแผนที่ได้วางไว้แล้ว ส่วนเอกสารที่มีการอ้างถึงน่าจะมาจากการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ที่ให้ความเห็นการใช้จ่ายเงินกู้ฯ จัดหา 6 ล้านโดสก่อน ซึ่งเป็นความเห็นเบื้องต้น ต่อมาคณะกรรมการฯ ยืนยันการจัดหา 12 ล้านโดส และเสนอผ่าน ศบค. และ ครม. เห็นชอบตามระเบียบ
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การขออนุมัติจัดหาวัคซีนผ่านที่ประชุมคณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ ศปก.ศบค. และ ศบค.ชุดใหญ่ คณะกรรมการกลั่นกรองฯ โดยพิจารณาสถานการณ์ระบาดที่รุนแรงในขณะนั้น เป็นเหตุให้มีการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเสนอขออนุมัติวงเงินในการจัดหาวัคซีนซิโนแวค 12 ล้านโดส ในที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ฯ และได้รับอนุมัติจัดซื้อในจำนวนดังกล่าว ก่อนที่จะมีการเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งมีการจัดซื้อตามระเบียบทางราชการเป็นการจัดซื้อเพื่อให้มีวัคซีนเพียงพอต่อการควบคุมสถานการณ์ในห้วงเวลาเร่งด่วน ถือเป็นการตัดสินใจในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยประเมินความเสี่ยงรอบด้านจากทุกระดับ
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีการระบุว่า ซื้อวัคซีนซิโนแวคมาเกินความต้องการ หมดอายุโดยไม่ได้ฉีดนั้น ข้อเท็จจริง คือ ในภาวะฉุกเฉินต้องมีวัคซีนจำนวนเพียงพอ ซึ่งมีส่วนที่หมดอายุน้อยมากและส่วนใหญ่เป็นวัคซีนซิโนแวคที่ประเทศไทยรับบริจาคจากต่างประเทศในช่วงปลายปี 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนเดือนกุมภาพันธ์ปี 2564 ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด 19 สะสมมากกว่า 145 ล้านโดส ทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันโรคทั่วถึง ช่วยปกป้องชีวิตคนไทยได้นับล้านคน ลดอัตราการป่วย การเสียชีวิต และลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโควิด 19 ที่สำคัญยังช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ประเทศไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและกลับสู่สภาวะปกติรวดเร็ว ซึ่งความสำเร็จในเรื่องนี้เป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลกและนานาชาติ