กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมเปิดโรงเรียน “Public School” ใน 76 จังหวัดและกรุงเทพฯ ซึ่งสามารถออกแบบหลักสูตร สรรหาครู ผู้บริหารที่ดีมาบริหารจัดการเองได้ เริ่มต้นปีการศึกษา 2561
ภาพ www.moe.go.th
เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนได้มีการจัดการประชุมคณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบ Public School ครั้งที่ 1/2561 โดย ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบ Public School ครั้งที่ 1/2561 กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้มีการจัดตั้งโรงเรียนที่มีสถานะเป็นโรงเรียนของรัฐ แต่ให้นำการบริหารจัดการของเอกชนมาใช้ ในเบื้องต้นใช้ชื่อว่า “Public School” เพื่อให้โรงเรียนมีความเป็นอิสระ มีความคล่องตัวจากกฎระเบียบต่าง ๆ ของรัฐ สามารถออกแบบหลักสูตร สรรหาครูและผู้บริหารที่ดี มาบริหารจัดการเองได้
ภาพ www.moe.go.th
ศธ.จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบ Public School เพื่อรองรับการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบาย THAILAND 4.0 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นที่ปรึกษา, โดย รมช.ศึกษาธิการ (นพ.อุดม คชินทร) เป็นประธาน, กรรมการประกอบด้วยบุคคลหลายภาคส่วน เช่น ผู้แทนจากภาคเอกชน, ผู้บริหารองค์กรหลัก ศธ., เลขาธิการ ก.พ.ร. โดยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดแนวทาง ยุทธศาสตร์ และรูปแบบการขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมบริหารสถานศึกษา ในรูปแบบ Public School ตลอดจนเกณฑ์เพื่อคัดเลือกโรงเรียนจับคู่กับผู้ให้การสนับสนุนตามความสมัครใจ และปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ภาพ BonNontawat / Shutterstock.com
ในการประชุมคณะกรรมการครั้งนี้ ได้มีมติเห็นชอบร่วมกันที่จะมีโรงเรียนในรูปแบบ Public School ใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร พร้อมแต่งตั้ง “คณะกรรมการดำเนินงานพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษา ในรูปแบบ Public School เพื่อรองรับการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบาย THAILAND 4.0" โดยมีนายมีชัย วีระไวทยะ เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่วางกรอบมาตรฐานกลาง เกณฑ์การคัดเลือก ตลอดจนคัดเลือกโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลาง นำเสนอให้คณะกรรมการชุดนี้พิจารณา เพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบโรงเรียน Public School ของ ศธ.ต่อไป
ภาพ Namart Pieamsuwan / Shutterstock.com
สำหรับโรงเรียน Public School จะบริหารจัดการโดยคณะกรรมการสถานศึกษา ประกอบด้วยตัวแทนจาก 4 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย ไม่เฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีคณะครุศาสตร์เท่านั้น แต่เปิดโอกาสให้คณะอื่น ๆ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย
นอกจากนี้ คณะกรรมการสถานศึกษายังมีอำนาจในการคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียนหรือเปลี่ยนแปลงได้หากเห็นว่าไม่เหมาะสม โดยสามารถสรรหาผู้มีคุณสมบัติ มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนอาจารย์คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ มาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน และในส่วนของครูก็เช่นกัน คณะกรรมการสถานศึกษาสามารถคัดเลือกครูได้ ทั้งที่จากข้าราชการครู และการจ้างผู้มีความรู้ในสาขาวิชาที่ขาดแคลนหรือต้องการ (ครูอัตราจ้าง) โดยกำหนดเงินเดือนได้เอง และสามารถจัดสรรเงินพิเศษเพิ่มเติม (ท็อปอัพ) แก่ครูที่เป็นข้าราชการด้วย
ภาพ wong sze yuen / Shutterstock.com
ทั้งนี้ โรงเรียนในรูปแบบ Public School จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 ในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อเป็นโรงเรียนต้นแบบขยายไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป ส่วนข้อคำถามว่าจะซ้ำซ้อนกับการพัฒนาโรงเรียนในกำกับของรัฐหรือโรงเรียนนิติบุคคล ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการหรือไม่นั้น ถือว่าไม่ซ้ำซ้อน เพราะโรงเรียนในกำกับของรัฐต้องรอการแก้ไขกฎหมายอีกหลายฉบับ ส่วนโรงเรียนในรูปแบบ Public School สามารถทำได้ทันทีภายกรอบกฎหมายที่มีอยู่ ทั้งในเรื่องของผู้อำนวยการโรงเรียนและครู ได้รับการยืนยันจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) ว่า กฎหมายเปิดช่องให้สามารถทำได้ เหลือเพียงเรื่องงบประมาณเท่านั้น ที่จะต้องพิจารณาในรายละเอียดการกำหนดอัตราเงินเดือนก่อน
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในอนาคตโรงเรียนทั้งสองรูปแบบจะมารวมเป็นแบบเดียวกันได้ เพราะเป็นโรงเรียนที่มีการบริหารจัดการแบบอิสระเหมือนกัน