เตือนกิน“น้ำแข็ง”ไม่สะอาดระวังโรคถามหา

2018-03-13 12:15:44

เตือนกิน“น้ำแข็ง”ไม่สะอาดระวังโรคถามหา

Advertisement

กรมอนามัย เผยช่วงหน้าร้อนกินน้ำแข็งไม่สะอาดอาจเสี่ยงป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงและอหิวาตกโรคได้ แนะเลือกซื้อน้ำแข็งที่สะอาด ปลอดภัย ได้รับการรับรองมาตรฐาน ย้ำผู้ผลิตให้ควบคุมขั้นตอนการผลิต รวมถึงห้ามแช่สิ่งของอื่น ๆ ในน้ำแข็งบริโภค

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ช่วงหน้าร้อนเครื่องดื่มและของหวานคลายร้อนประเภทน้ำแข็งไส หวานเย็น ขนมปังเย็น น้ำผลไม้ปั่น รวมทั้งเครื่องดื่มต่างๆ ซึ่งมีส่วนประกอบของน้ำแข็งหลายชนิด ได้แก่ น้ำแข็งหลอด น้ำแข็งสี่เหลี่ยม น้ำแข็งถ้วยเล็ก น้ำแข็งถ้วยใหญ่ น้ำแข็งเกล็ด น้ำแข็งโม่หรือน้ำแข็งป่น จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่หากน้ำแข็งที่ใช้บริโภคไม่สะอาดพอ อาจเสี่ยงให้มีเชื้อโรคปนเปื้อนเป็นสาเหตุให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารตามมาได้ ผู้บริโภคควรเลือกบริโภคน้ำแข็งที่มีวิธีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะได้มาตรฐานจีเอ็มพีเพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ และเมื่อน้ำแข็งละลายจะต้องใส ไม่มีตะกอนขาวขุ่นๆ อยู่ก้นแก้ว

นพ.ดนัย กล่าวต่อว่า ส่วนผู้จำหน่ายน้ำแข็งต้องคำนึงถึงความสะอาดและปลอดภัยโดยเฉพาะการเก็บรักษาความเย็นและภาชนะสำหรับบรรจุน้ำแข็ง ห้ามใช้แกลบ ขี้เลื่อย กระสอบ กาบมะพร้าว เสื่อ ในการห่อหรือปกคลุมน้ำแข็งเด็ดขาด สถานที่เก็บรักษาเพื่อจำหน่ายต้องสะอาดและมีระดับสูงกว่าทางเดิน ง่ายต่อการทำความสะอาดและไม่มีสิ่งปนเปื้อนในน้ำแข็ง ภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำแข็งต้องสะอาดไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค หากเป็นน้ำแข็งที่บรรจุในถุงพลาสติกจะต้องเป็นพลาสติกไม่มีสี และไม่บรรจุในถุงพลาสติกที่ผ่านการใช้มาแล้วหรือเป็นถุงที่เคยบรรจุสารเคมีมาก่อน เช่น สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือปุ๋ย ถ้าบรรจุในถังน้ำแข็งต้องเป็นถังที่บรรจุน้ำแข็งอย่างเดียวยกเว้นให้มีได้เฉพาะที่ตักน้ำแข็งมีด้าม เพื่อใช้ตักน้ำแข็งเท่านั้น ถ้าพบว่ามีการนำขวดน้ำดื่ม น้ำอัดลม ผักหรือเนื้อสัตว์ แช่รวมกันอยู่ในถังน้ำแข็งนั้นก็ไม่ควรนำมาใช้เพื่อการบริโภค





นพ.ดนัย กล่าวด้วยว่า น้ำแข็งที่แบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายต้องมีภาชนะปกปิดมิดชิด ไม่ควรวางอยู่บนพื้น ทางเท้าหรือใกล้ถังขยะ ภาชนะที่ใช้เก็บสามารถล้างทำความสะอาดได้ง่าย ไม่ใช้มือกอบน้ำแข็ง ส่วนร้านอาหารต้องเก็บน้ำแข็งในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิด ตั้งสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร ภาชนะต้องไม่เป็นสนิม สามารถเก็บความเย็นได้ดี ห้ามนำอาหารหรือเครื่องดื่มมาแช่ในน้ำแข็งที่ใช้บริโภคโดยเด็ดขาด ส่วนผู้ปฏิบัติงาน ณ บริเวณขนส่ง ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด ล้างมือทุกครั้ง ก่อนปฏิบัติงานสวมรองเท้าที่สะอาด และควรเป็นรองเท้าคนละคู่กับรองเท้าที่ปนเปื้อนจากนอกบริเวณขนส่ง ไม่สูบบุหรี่หรือมีพฤติกรรมอื่นๆ ที่ไม่ถูกสุขลักษณะขณะทำการขนส่ง และที่สำคัญห้ามใช้เท้าสัมผัสน้ำแข็ง ในส่วนของรถขนส่งนั้นต้องเป็นรถที่สะอาด โดยเฉพาะพื้นรถที่วางน้ำแข็งต้องมีการล้าง ฆ่าเชื้อก่อนทำการขนส่ง และมีมาตรการควบคุมอุณหภูมิน้ำแข็งให้สม่ำเสมอ

“ทั้งนี้ การผลิตน้ำแข็งจะต้องผ่านกระบวนการหลายอย่างกว่าจะถึงมือผู้บริโภค หากผู้ผลิตไม่มีความระมัดระวังตั้งแต่ต้น เริ่มจากคุณภาพของน้ำที่นำมาผลิต การเก็บ การขนส่ง รวมถึงภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำแข็ง ไม่สะอาดพอก็อาจก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ควบคุมการผลิตน้ำแข็งเพื่อจำหน่ายในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานต่าง ๆ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 78 (พ.ศ.2527) และ ฉบับที่ 137 (พ.ศ.2534) เรื่อง น้ำแข็ง เพื่อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน กรรมวิธีการผลิต การใช้น้ำในการผลิต สถานที่เก็บรักษาน้ำแข็ง การใช้ภาชนะบรรจุน้ำแข็ง ตลอดจนการแสดงฉลาก ต้องมีวิธีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ ต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับข้อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตหรือ จีเอ็มพี เพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนดังกล่าว หากฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษปรับ ไม่เกิน 10,000 บาท และมีการควบคุมตรวจสอบสุขลักษณะการจำหน่ายตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว