สปสช.เดินหน้าโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ

2024-07-15 17:05:13

สปสช.เดินหน้าโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ

Advertisement

สปสช.เดินหน้าโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ มี ปชช. รับบริการใส่ฟันเทียมแล้วกว่า 1 แสนราย รากฟันเทียม 4,000 ราย

เมื่อวันที่ 15 ก.ค.67 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ทพญ.วรางคณา เวชวิธี ทันตแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 ก.ค. 67 ณ โรงพยาบาลลาดหลุมแก้ว อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา

นพ.อภิชน จีนเสวก  ผอ.รพ.ลาดหลุมแก้ว กล่าวว่า ใน อ.ลาดหลุมแก้ว มีประชากร 7-8 หมื่นคน เป็นผู้สูงอายุประมาณ 1 หมื่นคน ซึ่งโรงพยาบาลมีกระบวนการให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เข้าไปตรวจสอบสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุและพบว่ามีประมาณ 1,000 คนที่มีปัญหาช่องปาก และมีผู้สูญเสียฟันทั้งปากจนต้องฝังรากฟันเทียมอีกกว่า 100 คน และขณะนี้อยู่ระหว่างทยอยเข้ารับบริการ โดยได้เริ่มให้บริการตามโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 2566 มีผู้รับบริการฝังรากฟันเทียมไปแล้ว 94 ราก หรือ 47 ราย และยังมีเข้าคิวรอรับการฝังรากฟันอีก 6 ราย แต่หากรวมจำนวนผู้ที่เข้ารับบริการในโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ มาตั้งแต่ปี 2550 จะมีผู้ได้รับการฝังรากฟันเทียมไปแล้ว 150 ราย

ทั้งนี้ สมัยก่อนการฝังรากฟันเทียมเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยากมาก ต้องขอบคุณโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 และบรรจุรากฟันเทียมที่เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองในโครงการฯ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้สูงอายุใน อ.ลาดหลุมแก้ว ได้รับการฝังรากฟันเทียมและคุณภาพชีวิตเปลี่ยนไป โครงการนี้จึงมีคุณูปการแก่ผู้สูงอายุอย่างมาก เป็นสิ่งที่พลิกโฉมทำให้การใช้งานฟันเทียมติดแน่นแทบไม่แตกต่างจากฟันจริง เปลี่ยนชีวิตของผู้สูงอายุหลายๆคนให้มีความสุขในการใช้ชีวิตมากขึ้น

"จริงๆ ผู้สูงอายุไม่ต้องการอะไรมาก ขอแค่มีอารมณ์ดี กินอาหารอร่อย แต่จะกินอาหารให้อร่อยต้องเคี้ยวได้ เพื่อให้การย่อยอาหารเป็นปกติ และสิ่งที่ผมพบเจอในการทำงาน คือผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องการย่อยอาหารเยอะมาก ทำให้เกิดโรคเรื้อรังตามมา ทั้งความดัน เบาหวาน ท้องอืด ท้องเฟ้อ กรดไหลย้อน ฯลฯ ซึ่งถ้าแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือเรื่องฟันได้ ปัญหาเหล่านี้จะลดลงไปอย่างมาก"นพ.อภิชน กล่าว

ทพญ.วรางคณา กล่าวว่า กรมอนามัยสำรวจสุขภาพช่องปากประชาชนไทยทุก 5 ปี ครั้งล่าสุดคือปี 2566 พบว่าผู้สูงอายุที่สูญสียฟันทั้งปากมีประมาณร้อยละ 7 ของผู้สูงอายุทั้งหมด หรือประมาณ 8 แสนราย และมีบางส่วนที่ใส่ฟันเทียมไปแล้ว แต่ยังมีจำนวนผู้ที่ต้องใส่ฟันเทียมอีกประมาณ 4 แสนราย ซึ่งในส่วนของฟันเทียมนั้น โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขสามารถให้บริการใส่ฟันเทียมได้ทุกโรงพยาบาล ทุกสิทธิไม่ว่าจะเป็นบัตรทอง ประกันสังคม หรือข้าราชการ แต่ในส่วนของรากฟันเทียม ยังเป็นสิทธิเฉพาะของบัตรทอง

"โครงการนี้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 2 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยบริการทุกจังหวัด เพื่อให้บริการในหน่วยบริการทุกระดับ แต่ในส่วนของการฝังรากฟันเทียมในช่วงแรกจะทำในโรงพยาบาลจังหวัด และระยะหลังขยายไปสู่การให้บริการในโรงพยาบาลระดับ 20 เตียงขึ้นไป เราตั้งเป้าหมายมีผู้สูงอายุใส่ฟันเทียม 72,000 ราย ฝังรากฟันเทียม 7,200 ราย ปัจจุบันจำนวนผู้ที่ใส่ฟันเทียมเกินเป้าไปแล้ว โดยทำได้ 109,000 ราย ส่วนรากฟันเทียม เนื่องจากเป็นนวัตกรรมที่ซับซ้อนและโรงพยาบาลอาจทำได้ไม่ครบทุกแห่ง ทั้งเป็นบริการจำเพาะผู้ที่มีปัญหาการใส่ฟันเทียมเท่านั้น ซึ่งทำได้ประมาณร้อยละ 65 ของเป้าหมาย” ทพญ.วรางคณา กล่าว

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ฟันเทียมเป็นรายการที่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์บัตรทองอยู่แล้ว เพียงแต่จะมีประชาชนบางกลุ่มที่มีปัญหาการใส่ฟันเทียมได้ จนกระทั่งมีโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง โดยโครงการฯ นี้ จะเลือกคนไข้ที่ไม่มีฟันทั้งปากและต้องใส่ฟันเทียม แต่ใส่แล้วมีปัญหา เช่น สันกระดูกบาง ใส่แล้วเจ็บ หลวม แล้วทำการฝังรากฟันเทียม เพื่อเป็นตัวยึดให้กับฟันเทียม ทำให้คนไข้สามารถกลับมาใช้ฟันได้อีกครั้ง ปัจจุบันดำเนินการไปได้ 4,000 กว่าปากแล้ว

ปัจจุบันยังมีผู้สูงอายุที่ต้องการใส่รากฟันเทียมอีกพอสมควร และต้องเรียนว่าปัจจุบัน ทั้งฟันเทียมและรากฟันเทียมถูกบรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองแล้ว หมายความว่าสามารถมารับบริการได้เรื่อยๆ ไม่มีกำหนดสิ้นสุด และปัจจุบันก็มีทันตแพทย์ที่ให้บริการฝังรากฟันเทียมได้กระจายไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ แต่อาจไม่ได้อยู่ทุกโรงพยาบาล ประชาชนอยู่ใกล้ที่ไหนก็เลือกไปรับบริการได้ และขอแนะนำให้ไปรับบริการในโรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน เพราะการฝังรากฟันเทียมต้องมีการทำหัตถการต่อเนื่องหลายครั้ง รวมทั้งต้องติดตามผลด้วย ดังนั้นควรไปที่ที่ใกล้บ้านจะดีที่สุด อย่างเช่น ที่โรงพยาบาลลาดหลุมแก้ว ซึ่งแม้จะอยู่ห่างไกลจาก อ.เมืองปทุมธานี แต่ก็เป็นโรงพยาบาลที่มี facility ที่ดี มีเครื่องเอ็กซเรย์ 3 มิติ มีทันตแพทย์ผู้ชำนาญ ก็ทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องเดินทางไปรับบริการถึงในตัวเมือง