"ติดเกม" เสี่ยงเป็นโรคจิตเวชจริงหรือ ?

2024-07-25 12:14:58

"ติดเกม" เสี่ยงเป็นโรคจิตเวชจริงหรือ ?

Advertisement

"ติดเกม" เสี่ยงเป็นโรคจิตเวชจริงหรือ ?

เกม สื่อความบันเทิงอย่างหนึ่งที่หลายคนเลือกเป็นตัวช่วยในการคลายเครียด ในอีกทางหนึ่งก็สามารถใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษาที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้ดี เช่น การวางแผน การจัดการทีม แต่หากหมกมุ่นในการเล่นเกมจน ติดเกม ไม่ออกไปเจอโลกภายนอกหรือพบปะผู้คนเลยก็อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางจิตเวช และส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจได้

ประเภทของเกมที่คนนิยมเล่น

เกมต่อสู้ (fighting) เป็นการนำตัวละครมาต่อสู้กันแบบหนึ่งต่อหนึ่ง ตัวละครแต่ละตัวจะมีทักษะพิเศษโดดเด่นแตกต่างกัน

เกมสวมบทบาท (role-playing) เรียกสั้น ๆ ว่า RPG เป็นเกมเล่นตามบทบาทมีลักษณะให้ผู้เล่นสวมบทเป็นตัวละครหนึ่งในเกม มีเป้าหมายเดินตามเนื้อเรื่องที่ปูเส้นไว้หรือมอบอิสระในการกระทำสิ่งต่าง ๆ

เกมผจญภัย (adventure) แนวเกมที่เน้นการเดินทางออกสำรวจดินแดนทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ

เกมยิงปืน (shooter) แนวเกมที่มอบประสบการณ์ให้ผู้เล่นรับบทเป็นทหาร ตำรวจ หรือนักล่า

เกมกีฬา (sport) ได้แรงบันดาลใจจากกีฬายอดนิยมดัดแปลงออกมาในรูปแบบเกมการแข่งขัน

เกมวางแผน (strategy) แนวเกมที่ไม่เน้นการใช้กำลังแต่ให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดแบบวางกลยุทธ์เพื่อเอาชนะ

เกมปริศนา (puzzle) เกมประเภทนี้มีเป้าหมาย คือ การแก้ปัญหาให้ถูกต้อง อาจเพิ่มความท้าทายด้วยการใส่ลูกเล่นแบบตอบผิดต้องโดนทำโทษหรือจับเวลา

เกมจำลองสถานการณ์ (simulation) วัตถุประสงค์ของเกมนี้ คือ การมอบประสบการณ์จริงหรือการเรียนรู้ช่วยเพิ่มทักษะให้แก่ผู้เล่นด้วยข้อจำกัดในชีวิตจริงบางครั้งคุณต้องเตรียมความพร้อมและเรียนรู้ด้วยตัวเอง

วิธีสังเกตอาการติดเกม

-มีความคิดหมกมุ่นเกี่ยวกับการเล่นเกม เช่น นึกถึงการเล่นที่ผ่านมา หรือนึกถึงการเล่นในครั้งถัดไป

-ใช้เวลากับการเล่นเกมมากเกินไปไม่ทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น กิจกรรมหรืองานอดิเรกที่เคยชอบ 

-ไม่พอใจเมื่อต้องงดหรือลดการเล่นเกม เช่น หงุดหงิด อาละวาด หรือเครียด

-มีความต้องการเล่นเกมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจำนวนเวลาที่ใช้เล่น ความทันสมัยของอุปกรณ์ และองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับเกม

-มีพฤติกรรมไม่ดีที่ตามมาเพื่อให้ได้เล่นเกม เช่น ขโมยเงิน โกหกปิดบังการเล่นของตนเอง ทะเลาะกับคนรอบข้าง

-อาจเคยพยายามหยุดหรือลดการเล่นแต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ

-ใช้การเล่นเกมเพื่อจัดการอารมณ์ทางลบ เช่น เศร้า เบื่อ โกรธ เหงา อยู่บ่อย ๆ

-ยังคงการเล่นของตนอยู่แม้ว่าจะทราบถึงผลทางลบที่เกิดขึ้นจากการเล่นเกมต่อการใช้ชีวิตของตนเอง

-เสียหรือพลาดโอกาสสำคัญในชีวิตต่าง ๆ เช่น ความสัมพันธ์กับผู้อื่น หน้าที่การงาน การเรียน อันเนี่องมาจากการเล่นเกมของตน

สาเหตุของการติดเกม

ด้านชีวภาพ เกิดจากการทำงานของสมองที่ผิดปกติทั้งด้านโครงสร้างการทำงานและสารสื่อประสาทที่ผิดปกติ

ด้านจิตใจและสังคม

-มีความพึงพอใจในตนเองต่ำ (low self-esteem) อยากได้การยอมรับจากผู้อื่น เช่น ได้รับคำชมจะทำให้อยากเล่นเกมมากขึ้น

-การเลี้ยงดูแบบไม่มีระเบียบวินัย (poor disciplines) ไม่มีกฎกติกา ทำให้เด็กมีความสามารถในการควบคุมตัวเองไม่ดี ทำให้เล่นเกมจนไม่ได้ทำสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ เช่น การเรียน กิจวัตรประจำวัน

-ปัญหาครอบครัว ขาดต้นแบบที่ดี บางครอบครัวผู้ใหญ่เองก็ไม่มีระเบียบวินัย ติดมือถือ ไม่มีกิจกรรมอย่างอื่นทำร่วมกัน

ติดเกม เสี่ยงเป็นโรคจิตเวชหรือไม่

อาการติดเกมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งการที่เริ่มเล่นเกมก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเสพติดเกมได้ เด็กที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชหลายโรคพบร่วมกับโรคเสพติดเกมได้บ่อย โดยการมีโรคทางจิตเวชดังกล่าวอาจเป็นได้ทั้งสาเหตุหรือเป็นผลที่ตามมาจากการติดเกม โรคทางจิตเวชที่มักพบได้บ่อยประกอบด้วยโรคดังนี้

โรคสมาธิสั้น (ADHD) การทำงานสมองของคนที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะต้องการการตอบสนองที่ฉับพลัน ไม่สามารถอดทนรอคอยได้ ขี้เบื่อ ต้องการสิ่งแปลกใหม่ เพราะฉะนั้นการเล่นเกมจึงสามารถตอบสนองได้ทันที ผลลัพธ์จะเกิดขึ้นแบบไม่ต้องรอนาน และการเล่นเกมมีความแปลกใหม่ตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา การเล่นเกมจะทำให้อาการของสมาธิสั้นยิ่งเป็นมากขึ้น

แบบไหนกันที่เรียกว่าภาวะสมาธิสั้นของเด็ก

3-5 % เด็กไทยอายุ 5-12 ปี ประสบปัญหาสมาธิสั้น

โรคบกพร่องทางการเรียนเฉพาะด้าน (LD) ทำให้คนที่เป็นโรคนี้มีผลการเรียนไม่ดี คนรอบข้างตำหนิหรือแสดงท่าทีไม่ยอมรับ ทำให้ไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง เมื่อไปเล่นเกมแล้วทำได้ดี มีสังคมเพื่อนในเกม ได้รับการชื่นชมและยอมรับจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ทำให้อยากเล่นเกมมากขึ้น

โรคซึมเศร้า (depression) อาการของโรค คือ เศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร รู้สึกหมดหวังกับโลกความเป็นจริง การเล่นเกมเป็นหนทางหลีกหนีจากความทุกข์ทรมานที่เป็นอยู่ ทำให้อยากที่จะอยู่ในโลกของเกม

ผลเสียที่มาจากการติดเกม

ด้านสุขภาพ

– อาการทางกายที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้ (unexplained somatic symptoms) เช่น ปวดหัว ปวดท้อง หรือปวดเมื่อยตามตัว

– เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือด

– เพิ่มโอกาสการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (venous thromboembolism)

– เพิ่มโอกาสการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดที่ปอด (pulmonary thromboembolism)

– โรคอ้วน

ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม

– พัฒนาการทักษะทางสังคมไม่ดี

– ไม่มีสมาธิ

– มีพฤติกรรมก้าวร้าว

– การควบคุมอารมณ์ต่ำ

– อดทนรอคอยไม่ได้

การเรียน

– ผลการเรียนแย่ลง

– ไม่มีเวลาทบทวนบทเรียน

การเงิน

– ทางตรง เช่น ค่าไฟ ค่าซื้ออุปกรณ์ ค่าเข้าร้านเล่นเกม ค่าซื้อไอเทม

– ทางอ้อม เป็นการสูญเสียด้านทรัพยากรบุคคล ทั้งที่มีความสามารถในการประกอบอาชีพและสมรรถภาพในการทำงานที่ดี แต่การเล่นเกมทำให้ความสามารถถดถอย ซึ่งเป็นการสูญเสียตัวเงินที่มองไม่เห็น (invisible cost)

วิธีป้องกันการติดเกม

-สร้างวินัยในชีวิตประจำวัน

-จำกัดชั่วโมงการเล่น

-หากิจกรรมสร้างสรรค์ทำกับเพื่อนหรือครอบครัว ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น

-อย่าปล่อยให้ตัวเองเข้าถึงมือถือหรือคอมพิวเตอร์โดยไม่มีการควบคุม

-วางตำแหน่งคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นเกมในสถานที่โล่ง

-ไม่ควรตั้งคอมพิวเตอร์ไว้ในห้องนอนหรือห้องที่ปิดมิดชิด

-วางนาฬิกาขนาดใหญ่ไว้หน้าเครื่อง

การรักษาอาการติดเกมสิ่งที่ดีที่สุด คือ ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและคนรอบข้าง ต้องเปลี่ยนและปรับพฤติกรรมต่าง ๆ พูดคุยปรึกษากันในทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิต โดยเฉพาะในเรื่องที่พ่อแม่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาการติดเกมของลูก

ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์

ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล