ผู้จัดการ สสส.เผยไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 20% ของประชากรทั้งหมด คาดมีผู้ป่วยระยะประคับประคองทะลุ 2 แสนคนต่อปี
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานแถลงข่าว Let’s move! ชีวาภิบาล ความร่วมมือขับเคลื่อนระบบชีวาภิบาลอย่างมีส่วนร่วมสู่การพัฒนาคุณภาพการบริบาลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยระยะยาว ระยะท้าย และการตายดี ว่า ปีนี้ไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีประชากรสูงวัยเพิ่มสูง 20% ของประชากรทั้งหมด ทำให้ไทยมีผู้สูงอายุมากถึง 14 ล้านคน ส่งผลให้มีผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คาดการณ์ไว้ว่าจะมีผู้ป่วยอยู่ในระยะประคับประคองเพิ่มขึ้น 229,817 คน ในจำนวนนี้ เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งมากสุด 30% รองลงมาคือโรคหลอดเลือดสมอง 17% โรคไต 11% โรคหัวใจ 10% และโรคทางเดินหายใจ 5% จากสถานการณ์นี้ สสส. ได้ร่วมกับ Peaceful Death ริเริ่มโครงการเมืองกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี ส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์ ครอบครัว อาสาสมัคร และชุมชน ร่วมดูแลใส่ใจผู้ป่วยระยะท้ายอย่างเข้าใจพร้อมเรียนรู้ชีวิตและการจากไปโดยคงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
"การจัดงานครั้งนี้ สสส. มุ่งสานพลังสถานพยาบาลภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ชุมชน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เครื่องมือ และเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันในการพัฒนาระบบชีวาภิบาลให้เข้มแข็ง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและครอบครัว เสริมศักยภาพชุมชนในการดูแลสุขภาพของตัวเอง และขยายผลสู่การเพิ่มจำนวนสถานชีวาภิบาลรองรับการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงในท้องถิ่น เช่น ศูนย์ประสานงานและผู้ดูแลผู้ป่วยในท้องถิ่น สถานรับฝากดูแลผู้ป่วยกลางวันและข้ามคืน สถานดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยระยะยาว และผู้ป่วยระยะท้ายจากภาคเอกชนอย่างมีมาตรฐานเท่าเทียมกัน สอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขแบบบูรณาการ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาซึ่งเป็นรากฐานของการสร้างสังคมสุขภาวะ" นพ.พงศ์เทพ กล่าว
น.ส.วรรณา จารุสมบูรณ์ ผู้จัดการโครงการเมืองกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี กลุ่ม Peaceful Death กล่าวว่า โครงการเมืองกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี มีหมุดหมายที่สำคัญ คือ 1.Move สถานพยาบาลทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน เชื่อมโยงแนวทางการทำงานระบบชีวาภิบาล และถอดบทเรียน 2.Move ระบบชีวาภิบาลไปสนับสนุนชุมชน พัฒนาคนในพื้นที่ให้มีความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย สร้างสังคมที่มีกรุณา ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในระดับพื้นที่ ทั้งนี้ เตรียมเสนอระบบชีวาภิบาลในท้องถิ่นต่อรัฐบาลเพื่อกำหนดเป็นนโยบายระดับชาติ โดยเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตในช่วงท้ายที่ดี และมีความมั่นใจที่จะดูแลความเจ็บป่วยและการสูญเสียได้ด้วยตนเองได้
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายชีวาภิบาล กล่าวว่า การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม พัฒนาระบบชีวาภิบาล จะช่วยให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งสนับสนุนให้ท้องถิ่นได้พัฒนาระบบ นวัตกรรม การดูแลผู้ป่วยระยะยาว และระยะท้ายตอบโจทย์บริบทของท้องถิ่น พัฒนาเครือข่ายหรืออาสาสมัครในชุมชนให้มีความรู้ เป็นแกนนำในการดูแลสุขภาพของคนในชุมชนกันเอง หากคนทำงานในทุกระดับมีจิตใจเมตตา ใช้ปัญญาเข้ามาช่วยให้ผู้ป่วยทุกข์น้อยลง มีความสุขมากขึ้น ถือเป็นการสร้างสังคมที่มีสุขภาวะทางปัญญาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจร่วมเรียนรู้และผลักดันระบบชีวาภิบาล ติดตามได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Peaceful death