"ธนกร"สะกิดรัฐสภาคิดให้รอบคอบแก้ รธน.ปมจริยธรรม ซื่อสัตย์สุจริตหลังถูกมองเอื้อนักการเมืองเสียเอง
เมื่อวันที่ 20 ก.ย.67 ที่จ.ราชบุรี นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะกรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ได้ เดินทางมาเป็นประธานเปิดการสัมมนาและปาฐกถาเรื่อง "บทบาทหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการ กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน โดยมี น.ส.วริษฐา สงวนเสริมศรี รอง ผวจ.ราชบุรี และ น.ส.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ให้การต้อนรับ
นายธนกร กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและตระหนักถึงปัญหาของประชาชนในพื้นที่ จึงได้มาเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจในเรื่องบทบาทหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร บทบาทของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งมีทั้งการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และการสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลรวมทั้งการเปิดเวทีอันเป็นช่องทางที่ประชาชนได้สะท้อนปัญหา เสนอข้อร้องเรียนต่าง ๆ ผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชนในพื้นที่ได้
นายธนกร ยังกล่าวว่า กรณีที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนกำลังเตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เรื่องมาตรฐานจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ของสส.และรัฐมนตรี ซึ่งฝ่ายค้านโดยพรรคประชาชนก็เห็นพ้องด้วยนั้น ส่วนตัวมองว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงและผ่านการทำประชามติของประชาชน หากจะเป็นการแก้รายมาตรา ก็ควรแก้ในส่วนที่จำเป็นเร่งด่วน หรือแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชนก่อนจะดีกว่า โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(4) (5) มีเจตนารมณ์สำคัญในการป้องกันบุคคลที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต เข้ามามีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง หากมีการแก้ไขตรงนี้หรือทำให้เบาลงอาจจะเป็นการเปิดช่องให้บุคคลที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตโดยแท้เข้ามามีอำนาจได้
"กรอบของคำว่าจริยธรรมในรัฐธรรมนูญ ถือเป็นด่านพิสูจน์เพื่อใช้กลั่นกรองบุคคลที่จะก้าวเข้าสู่อำนาจว่าเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมหรือไม่ เป็นการตรวจคัดกรองอย่างเข้มข้น เพราะหากแต่งตั้งให้คนที่มีความประพฤติผิดทางจริยธรรมเข้ามาบริหารบ้านเมือง อาจจะส่งผลเสียต่อประเทศชาติและประชาชนได้ ตนจึงเห็นด้วยที่ควรยึดและยกมาตรฐานตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปราบโกงให้สูงเข้าไว้ก่อน ผมเชื่อว่า ท่านสส.ท่านรัฐมนตรีทุกคน ต่างก็หวังดีและตั้งใจทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองอยู่แล้ว ประชาชนต้องการ ผู้บริหารประเทศที่มีมาตรฐาน คุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต เข้ามาปกครองบ้านเมือง จึงขอฝากรัฐสภาให้มีการคิดทบทวนในประเด็นนี้ให้รอบคอบ เพราะถ้ารัฐสภา ทั้งสส.และสว.ร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องจริยธรรมดังกล่าว อาจถูกสังคมและประชาชนมองว่าเป็นการแก้เพื่อตัวเอง แก้เพื่อนักการเมืองเสียเอง และหากถูกยื่นร้องให้ตรวจสอบอาจส่อไปในทางที่ขัดต่อกฎหมายได้ จึงควรคิดพิจารณาให้รอบคอบ” นายธนกร กล่าว