จับตาโผทัพเรือ !! แคนดิเดตทั้ง 3 ใครจะคว้าตำแหน่ง ผบ.ทร.คนใหม่ ?
กระแสการจับตาการเปลี่ยนแปลงผู้นำกองทัพเรือยังคงเป็นที่สนใจของสาธารณชนในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นความเหมาะสมของบุคคลที่จะเข้ามารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือคนใหม่นั้น เป็นสิ่งที่สังคมให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ขณะนี้กระบวนการสรรหาและเสนอชื่อยังคงดำเนินไปตามขั้นตอน โดยผ่านการพิจารณาจากรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะนำเสนอเพื่อทูลเกล้าฯ
สังคมให้ความสำคัญกับคุณสมบัติของผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพเรือเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความโปร่งใสและความเหมาะสม ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งต้องเป็นบุคคลที่ปราศจากข้อครหาและมีความประพฤติที่เรียบร้อย มีประสบการณ์และความรู้ความสามารถในด้านการทหารทางเรือมาอย่างยาวนาน และที่สำคัญต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมที่จะยอมรับความพ่ายแพ้และพร้อมที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาด เพื่อนำพากองทัพเรือให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
ในส่วนของกองทัพเรือ มีแคนดิเดต 3 นาย ได้แก่
คนที่ 1 พล.ร.อ.วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง เสนาธิการทหารเรือ นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 24 จบการศึกษาโรงเรียนนายเรือไทย
เคยดำรงตำแหน่ง
- ผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์
- ผบ.ร.ล.พุทธเลิศหล้านภาลัย
- ผู้บัญชาการกองเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์
- ผู้ช่วยทูตทหารเรือไทยประจำกรุงลอนดอน
- หัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำเสนาธิการทหารเรือ
- หัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บัญชาการทหารเรือ
- หัวหน้าคณะฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา
- เสนาธิการทหารเรือ
คนที่ 2 พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการทหารเรือ นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 25 จบการศึกษาโรงเรียนนายเรือไทย
เคยดำรงตำแหน่ง
- ผู้บังคับการเรือหลวงปิ่นเกล้า
- ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย
- ผู้บังคับการเรือหลวงจักรีนฤเบศร
- ผู้ช่วยทูตทหารเรือไทยประจำกรุงวอชิงตัน
- ผู้บัญชาการกองเรือลำน้ำ กองเรือยุทธการ
- ผู้บัญชาการฐานทัพเรือกรุงเทพ
- หัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บัญชาการทหารเรือ
- ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ
- ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ
- รองผู้บัญชาการทหารเรือ
คนที่ 3 พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 23 จบการศึกษาโรงเรียนนายเรือเยอรมนี
เคยดำรงตำแหน่ง
- ผู้บังคับการเรือหลวงประแส
- ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย
- ผู้บัญชาการกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ
- รองเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ
- หัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บัญชาการทหารเรือ
- ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ
โดยหนึ่งในสามมีเรื่องร้องเรียนกรณีชู้สาวจากภรรยาเก่า และเป็นการกระทำที่ขัดต่อจริยธรรมอย่างร้ายแรง จึงมีเสียงคัดค้านและข้อมูลที่ชี้ชัดถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม การที่ผู้บัญชาการทหารเรือคนปัจจุบันยังคงดันทุรังที่จะผลักดันให้บุคคลท่านนี้ขึ้นดำรงตำแหน่ง แม้จะขัดต่อข้อบังคับและกระบวนการที่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง และอาจส่งผลกระทบต่อความสามัคคีและภาพลักษณ์ของกองทัพเรือ
พระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสว่า "ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้..."
หากการแต่งตั้งนี้เกิดขึ้นจริง อาจนำไปสู่ความแตกแยกภายในองค์กร และส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของกำลังพล นอกจากนี้ ยังอาจเป็นการเปิดช่องให้เกิดการใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกต้อง และนำไปสู่ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในอนาคตได้ การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ยอมลงนามในบัญชีรายชื่อดังกล่าว แม้จะทราบถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามถึงเจตนาและแรงกดดันที่อาจมีอยู่เบื้องหลัง และหากนายกรัฐมนตรีลงนามอนุมัติตามไปด้วย ก็จะยิ่งตอกย้ำความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลและประเทศชาติ
เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการคัดเลือกบุคคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรที่สำคัญ เช่น กองทัพ การตัดสินใจที่ผิดพลาดเพียงครั้งเดียว อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อองค์กรและประเทศชาติได้ในระยะยาว และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจดังกล่าวจะต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ยกตัวอย่างการแต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติขัดกับตำแหน่ง อย่างการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ส่งผลต่อ อดีตนายกฯ เศรษฐา จนต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว สิ่งนี้อาจจะยิ่งตอกย้ำความไม่น่าไว้วางใจที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน.