กรมที่ดินแจงยิบที่ดินเขากระโดง ทำตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ตั้ง คกก.สอบสวนถูกต้องตาม ม.61 ประมวลกฎหมายที่ดิน ยันไม่ขัดแย้งคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ แจ้ง รปท.เร่งพิสูจน์สิทธิในที่ดิน
เมื่อวันที่ 10 พ.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา กรมที่ดิน เผยแพร่ กรณีคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดง กรมที่ดิน ขอเรียนชี้แจงในประเด็นต่าง ดังนี้ ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ลงวันที่ 30 มี.ค.66 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดิน มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้การรถไฟฯ (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกา และศาลอุทธรณ์ ภาค 3 ซึ่งอธิบดีกรมที่ดิน (นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีซึ่งอธิบดีมอบหมาย) ได้มีคำสั่งคำสั่งที่ 1195 -1196 /2566 ลงวันที่ 12 พ.ค.66 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางดังกล่าวแล้ว โดยที่ศาลปกครองกลางมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์บริเวณเขากระโดงแต่อย่างใด
ประเด็นการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 60 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน การตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 61 วรรคสอง และวรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการสอบสวน และการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553 หมวด 1 การตั้งคณะกรรมการสอบสวน และการสอบสวน ข้อ 2 ซึ่งประกอบด้วย
(1) เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด สาขาหรือข้าราชการสังกัดกรมที่ดินที่อธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีหรือผู้ตรวจราชการกรมที่ดินเห็นสมควร เป็นประธานกรรมการ
(2) นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอซึ่งที่ดินตั้งอยู่ เป็นกรรมการ
(3) ตัวแทนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ เป็นกรรมการ
(4) ผู้แทนส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควร เป็นกรรมการ
(5) ข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปตั้งแต่ระดับชำนาญงานขึ้นไปหรือข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการตั้งแต่ระดับชำนาญการขึ้นไปในสำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินจังหวัด สาขา เป็นกรรมการและเลขานุการ
ดังนั้นการตั้งคณะกรรมการสอบสวนจึงเป็นการตั้งตามตำแหน่งหน้าที่ที่กฎหมายได้บัญญัติไว้
ประเด็นการสอบสวนของคณะกรรมกาสอบสวน มีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553 หมวด 1 การตั้งคณะกรรมการสอบสวนและการสอบสวน ข้อ 3 และ ข้อ 4 ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้คณะกรรมการสอบสวนฯ ต้องดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐานให้ได้ความว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยมีการนัดสอบสวน การนัดพิจารณาหรือการอย่างอื่นพร้อมทั้งต้องแจ้งผู้มีส่วนได้เสียทราบเป็นหนังสือด้วย และมีอำนาจเรียกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องจากผู้ยึดถือมาประการพิจารณาพร้อมทั้งแจ้งผู้มีส่วนได้เสียทราบเพื่อให้โอกาสคัดค้าน
เมื่อดำเนินการสอบสวนเสร็จแล้ว คณะกรรมการสอบสวนมีหน้าที่ รายงานผลการสอบสวนต่ออธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย โดยจะต้องสรุปข้อเท็จจริงและเหตุที่มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งมีหน้าที่เสนอความเห็นต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายว่าสมควรสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไรอีกทั้งมีหน้าที่ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมในกรณีที่อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเห็นสมควรให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมตามนัยกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบตัวยกฎหมาย พ.ศ. 2553 ข้อ 7
ประเด็นที่กรมที่ดินพิจารณายุติเรื่องกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553 หมวด 3 การสั่งเพิกถอน หรือแก้ไข ข้อ 12 ได้บัญญัติเงื่อนไขของการที่อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีบตีมอบหมายจะพิจารณาสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนตที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้นได้ต่อเมื่อปรากฏชัดแจ้งว่าได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งได้ดำเนินการสอบสวนแล้ว ปรากฏว่า แผนที่ที่การรถไฟฯกล่าวอ้างซึ่งได้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 เป็นการจัดทำขึ้นตามมติที่ประชุม กบร. จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรกรกลุ่มสมัชชชาคนจน เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2539 โดยผู้ฟ้องคดี นำแผนที่ดังกล่าว ไปใช้ในการต่อสู้คดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 - 876/2560 และ ที่ 8027/2561 จึงไม่ใช่แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตวันออกเฉียงเหนือ พระพุทธศักราช 2464 ประกอบกับตำแหน่งที่ตั้งและขอบเขตของที่ดินการรถไฟซึ่งมีการกล่าวอ้างว่ามีระยะทาง 8 กิโลเมตร แต่จากการตรวจสอบรายงานผลการถ่ายทอดแนวเขตที่ดินการรถไฟฯ ของคณะทำงานดำเนินการถ่ายทอดแนวเขตที่ดิน ตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 681/2566 ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบทางรถไฟโดยใช้วิธีการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ. 2497, พ.ศ. 2511, พ.ศ. 2529 และ พ.ศ. 2557 ปรากฏว่าทางรถไฟมีระยะทางประมาณ 6.2 กิโลเมตร และได้ลงสำรวจเส้นทางรถไฟในพื้นที่จริงด้วยการรังวัดค่าพิกัดด้วยเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมแบบจลน์ (RTK) สามารถยืนยันตำแหน่งทางรถไฟที่ปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศว่า ตรงกับตำแหน่งรางรถไฟบนที่ดินจริง
ประกอบกับการตรวจสอบจากแผนที่ภูมิประเทศ ลำดับชุดที่ L708 ซึ่งเป็นแผนที่ภูมิประเทศชุดแรกในประเทศไทยจัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร (ในช่วงปี พ.ศ. 2495 - 2500)มีความยาวของทางรถไฟประมาณ 6.2 กิโลเมตร เช่นกัน โดยมีข้อสังเกตที่สำคัญจากการดำเนินการของคณะทำงานดังกล่าวคือ จุดสิ้นสุดรางรถไฟในแต่ละชั้นปีที่ดำเนินการถ่ายทอดมีระยะสิ้นสุดไม่เท่ากันและมีความแตกต่างกันในช่วงปลายตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ 6 ถึงจุดสิ้นสุด มีทิศทางที่แตกต่างกัน โดยหากพิจารณาจากรางรถไฟจริง จุดสิ้นสุดของกิโลเมตรที่ 8 จะเบี่ยงไปทางด้านทิศตะวันออก และความกว้างของแนวเขตทางรถไฟ จากการตรวจจสอบข้อมูลของคณะทำงานศึกษา แสวงหาหลักฐานและบูรณาการข้อมูลประวัติที่ดิน ตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 91/2567 ลงวันที่ 18 ม.ค.67 ที่ได้ศึกษาค้นคว้าเทียบเคียงจากพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้อง และจากหนังสือกระทรวงโยธาธิการ ฉบับลงวันที่ 27 ส.ค. รัตนโกสินทรศก 127 สันนิษฐานได้ว่าการกำหนดเขตสร้างทางรถไฟจะมีการกำหนดไว้เพียงระยะข้างละไม่เกิน 40 เมตร หรือ 20 วา สำหรับกรณีที่ศาลปกครองกลาง
ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้การรถไฟฯ (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค 3 คณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่สามารถร่วมกับการรถไฟฯ เพื่อตรวจสอบแนวเขตรถไฟตามข้อสังเกตของศาลปกครองกลางได้ เนื่องจากเป็นการร่วมกับคู่กรณีในการพิจารณาทางปกครอง ทำให้สูญเสียความเป็นกลางและมีผลทำให้ความเห็นหรือมติของคณะกรรมการสอบสวนฯไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้ง เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแล้วเห็นว่า เป็นการดำเนินการไปตามขั้นตอนและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประกอบกับเมื่อพิจารณาประเด็นคำคัดค้านพยานหลักฐานของผู้มีส่วนได้เสียแล้วเห็นว่า รับฟังได้ คณะกรรมการสอบสวนฯ จึงมีมติยืนยันความเห็นว่าไม่สมควรที่จะเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินด้วยมติเป็นเอกฉันท์ จนกว่าจะได้มีพยานหลักฐาน ที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ รวมถึงเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่สามารถพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฯ ยกเว้นในบริเวณที่มีพยานหลักฐานยืนยันว่า มีการเข้าใช้ประโยชน์โดยมีการสร้างทางรถไฟซึ่งจะต้องไม่เกินข้างละ 20 วา หรือ 40 เมตร โดยการรถไฟฯ จะต้องเป็นผู้นำพิสูจน์การเข้าทำประโยชน์
ดังนั้น เมื่อพิจารณาผลการสอบสวนและความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งเห็นว่ายังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขตามนัยข้อ 12 ของกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553 อธิบดีจึงได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการฯ เสนอยุติเรื่องในกรณีนี้ ตามความเห็นของคณะกรรมการฯ ที่ได้เสนอมา พร้อมทั้งแจ้งให้การรถไฟทราบว่า หากการรถไฟฯ เห็นว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินจะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป
ประเด็นการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนและกรมที่ดินขัดหรือแย้งกับคำพิพากษาฎีกาและศาลอุทธรณ์หรือไม่ประเด็นตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ เป็นกรณีพิพาทของการรถไฟแห่งประเทศไทยกับเอกชน ซึ่งกรมที่ดินไม่มีโอกาสได้เข้าไปเป็นคู่ความต่อสู้ในคดี และนำเสนอพยานหลักฐานอันเป็นสาระสำคัญซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีไปแสดงต่อศาลได้ สำหรับรูปแผนที่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(ผู้ฟ้องคดี) อ้างสิทธิ นั้น จาการตรวจสอบพบว่าได้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531 และปีพ.ศ. 2539 เป็นการจัดทำขึ้นตามมติที่ประชุมคณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนจังหวัด ซึ่งได้จัดทำขึ้นภายหลังที่ได้ออกเอกสารสิทธิในที่ดินไปแล้ว โดยการรถไฟฯ ได้นำแผนที่นี้ไปใช้ประกอบการต่อสู้ในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งแผนที่นี้ไม่ใช่แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดชื้อที่ดินฯ แต่อย่างใด
ประกอบกับการดำเนินการคณะกรรมการสอบสวนฯ และกรมที่ดิน เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และตามที่ประมวลกฎหมายที่ดิน และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553 บัญญัติไว้ จึงเห็นว่ามิได้ขัดหรือแย้งกับคำพิพากษาของศาลแต่ประการใด