รัฐบาลเร่งพัฒนา "แพลตฟอร์มกันลวง"

2024-11-18 20:21:45

 รัฐบาลเร่งพัฒนา "แพลตฟอร์มกันลวง"

Advertisement


รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เร่งพัฒนา  "แพลตฟอร์มกันลวง" ช่วยคัดกรองสายเรียกเข้า เอสเอ็มเอส คาดพร้อมใช้ต้นปี 68 

เมื่อวันที่ 18 พ.ย.67  น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหา อาชญากรรมออนไลน์มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม เร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการก่ออาชญาการรมทางเทคโนโลยี ผ่านโครงการ DE-fence platform หรือ แพลตฟอร์มกันลวง ป้องกันการโทรหลอกลวง และ SMS หลอกลวง ช่วยคัดกรองสายเรียกเข้า และข้อความสั้น รวมถึงช่วยยืนยันเบอร์จากหน่วยงานสำคัญ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) จะเร่งพัฒนาให้พร้อมใช้ในต้นปี 2568

น.ส.ศศิกานต์ กล่าวว่า มาตรการนี้เป็นการป้องกัน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ใช้การโทร และการส่ง SMS หลอกลวงประชาชน ควบคู่กับมาตรการลงทะเบียนผู้ให้บริการส่ง SMS ใหม่ทั้งระบบ ภายในปี 2567 ซึ่งต้องมีการลงทะเบียนทุก ๆ ปี เพื่อให้สามารถระบุว่าผู้ให้บริการ และผู้ส่ง SMS คือใคร รวมทั้งการลงทะเบียนการส่ง SMS แนบลิงก์ จะต้องระบุรายละเอียดของข้อความ และลิงก์ เพื่อให้ผู้ให้บริการเครือข่าย ตรวจสอบลิงก์ ก่อนที่จะส่ง SMS ไปยังผู้ใช้บริการ  DE-fence platform สามารถเชื่อมต่อฐานข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการโทรคมนาคม เพื่อให้ได้ข้อมูลเลขหมายที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด รวมถึงเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของ ตร. สำนักงาน ปปง. ศูนย์ AOC 1441 และกระทรวงดีอี เพื่อใช้ในการเตือนประชาชนให้ทราบข้อมูลของผู้โทรเข้าว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ความเสี่ยงของเบอร์โทรอยู่ระดับใด ก่อนรับสายหรืออ่านข้อความ SMS รวมถึงสามารถตรวจหาความผิดปกติของ Link ที่แนบมากับ SMS ได้ นอกจากนี้ ยังมีระบบแจ้งความออนไลน์ และแจ้งอายัดบัญชีคนร้ายผ่าน AOC 1441 พร้อมระบบการยืนยันตัวตนของผู้ใช้งาน เพื่อส่งข้อมูลให้กับตำรวจอีกด้วย

DE-fence platform ใช้หลักการในการแบ่งสายโทรเข้า รวมถึง SMS ที่ได้รับ เป็น 3 กลุ่มสี คือ

1) Blacklist ซึ่งเป็นหมายเลขการติดต่อจากคนร้ายที่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และแนะนำให้ผู้ใช้บริการเลือก Block หรือปิดกั้นแบบอัตโนมัติ

2) Greylist เป็นการติดต่อจากหมายเลขที่ต้องสงสัย ซึ่งติดต่อจากต่างประเทศ หรือติดต่อจากอินเตอร์เน็ต โดยระบบจะแจ้งเตือนให้ผู้ใช้บริการได้รู้ถึงระดับความเสี่ยงของสายโทรเข้า หรือ SMS ดังกล่าว

3) Whitelist หรือ สีขาว เป็นหมายเลขที่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นหมายเลขของหน่วยงานรัฐ หรือหมายเลขหน่วยงานที่ลงทะเบียนถูกต้อง รวมถึงเป็นหมายเลขที่ผู้ใช้บริการ platform ยืนยันว่าเป็นหมายเลขที่ต้องการรับสาย หรือ ยินยอมรับข้อความ

สำหรับการพัฒนา DE-fence platform ระยะแรกจะเน้นที่เบอร์โทรและ SMS ก่อน โดยเฉพาะ Whitelist ที่เป็นของหน่วยงานรัฐ ที่คนร้ายชอบใช้ และในระยะต่อไปจะขยาย Whitelist ให้ครอบคลุมมากขึ้น พร้อมทั้งขยายการป้องกันและแจ้งเตือนสำหรับการติดต่อทางโซเชียลมีเดีย ถือเป็นมาตรการเชิงรุกของรัฐบาลที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้เห็นผล