รมว.สธ.ให้กำลังใจผู้ติดยาขอให้มุ่งมั่นหลุดพ้น

2024-11-20 17:18:44

รมว.สธ.ให้กำลังใจผู้ติดยาขอให้มุ่งมั่นหลุดพ้น

Advertisement

รมว.สาธารณสุขตรวจเยี่ยม สบยช. ให้กำลังใจผู้ป่วยติดยาเสพติดขอให้มุ่งมั่นหลุดพ้น ผลักดันให้มีเตียงจิตเวชยาเสพติดให้เพียงพอสำหรับผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 20 พ.ย.67 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยนายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการ  รมว.สาธารณสุข  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายโฆสิต สุวินิจจิต นายเอกฤทธิ์ ศาตะมาน คณะที่ปรึกษา  รมว.สาธารณสุข  ผู้บริหารกระทรวง เดินทางไปตรวจเยี่ยมสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชนนี (สบยช.) โดยจุดแรกได้ตรวจเยี่ยมผู้ป่วยชายที่หอผู้ป่วยฟื้นฟูสมรรถภาพ  ทองเนื้อเก้า

นายสมศักดิ์ กล่าวกับผู้ป่วยว่า ขอให้กำลังใจในการดูแลตัวเองหายดี กลับคืนสู่ภาวะปกติ สามารถประกอบอาชีพร่วมกับคนในสังคมได้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องยาเสพติดทั้งการปราบปรามและการบำบัดรักษา เราต้องออกไปเป็น บุคลากรที่ดี ต้องคิดว่าเรามีประโยชน์กับประเทศอีกมาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงพวกเรามาก ท่านไม่ได้ให้เราต่อสู้อย่างเดียว ต้องจัดการคนขายยา ยึดทรัพย์ด้วย เป็นแนวนโยบายรัฐบาล จัดการกับผู้ขาย ดูแลผู้เสพ ดังนั้น ขอให้ออกไปอย่างสง่าผ่าเผย ความมุ่งมั่นจะทำให้เราหลุดพ้นขอเอาใจช่วยทุกคน

จากนั้นนายสมศักดิ์ตรวจเยี่ยมหน่วยงาน และรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่บ้านแบบ Home Ward อีกทั้งได้พูดคุยกับผู้ป่วยในระบบดังกล่าวผ่านวีดิโอคอนเฟอร์เร้นท์ ต่อมาได้เยี่ยมชมผลงานนิทรรศการผลการดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ของ สบยช. และผลิตภัณฑ์จากผู้ป่วย ก่อนจะมอบนโยบาย

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายด้านสุขภาพจิตและยาเสพติด 4 ประเด็น ได้แก่ 1. เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตยาเสพติด 2. คืนคนคุณภาพกลับสู่สังคม 3.ป้องกันไม่ให้กลับสู่วงจรยาเสพติดอีก และ4.ให้ความรู้และสร้างความตระหนักแก่ประชาชนประเด็นแรก การเพิ่มการเข้าถึงบริการยาเสพติด จากข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ประเทศไทยมีผู้เสพเกือบ 2 ล้านคน มีผู้ติดยาเสพติดประมาณ 450,000 คน มีผู้ป่วยยาเสพติดสะสมในปี 2556-2567 ประมาณ 1 ล้าน 5 แสนคน แต่มีผู้ป่วยที่เข้าถึงบริการเพียงร้อยละ 40 ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่พวกเราต้องช่วยกันเพิ่มการเข้าถึงบริการดังกล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่สอง การคืนคนคุณภาพกลับสู่สังคม คือ การบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชทางการแพทย์ และการฟื้นฟูทางสังคม ซึ่งหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีเตียงจิตเวชยาเสพติด ประมาณ 10,705 เตียง อยู่ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป 8,065 เตียง มินิธัญญารักษ์ และโรงพยาบาลชุมชน 2,640 เตียง ซึ่งเราต้องผลักดันให้มีเตียงจิตเวชยาเสพติดให้เพียงพอ เพื่อให้การรักษาและฟื้นฟูมีประสิทธิภาพ

นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ประเด็นต่อมา การป้องกันไม่ให้กลับสู่วงจรยาเสพติดอีก ผ่านแนวคิด "ชุมชนล้อมรักษ์" หรือการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อป้องกันการกลับไปสู่วงจรยาเสพติดอีก ซึ่งมีความคืบหน้าพอสมควร โดยปัจจุบันมี 2,349 ชุมชน โดยพบว่าผู้ป่วยยาเสพติดรักษาต่อเนื่อง ร้อยละ 60 และผู้ป่วยยาเสพติดหยุดเสพต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปี ร้อยละ 26.85 ประเด็นสุดท้าย การให้ความรู้และสร้างความตระหนัก เพื่อส่งเสริมป้องกันการเข้าสู่วงจรยาเสพติด โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งโครงการ To BE Number One เป็นส่วนสำคัญมาก ทำให้ปัจจุบันความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต และยาเสพติดของคนไทย อยู่ในระดับดีถึงดีมาก ร้อยละ 46.35

"ผมคิดว่า ทิศทางการบำบัดรักษายาเสพติด จะต้องมีเอกภาพ และมีคุณภาพตามแนวทางสากล ซึ่งเน้นมาตรการเพื่อหยุดเสพหรือลดการใช้ยา โดยการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู ครอบคลุมทั้งทางกาย จิต และสังคม นโยบายรับยาจิตเวชใกล้บ้าน ใกล้ใจ สะดวกไม่ต้องรอนาน เป็นการทำงานแบบไร้รอยต่อ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยเมื่อพิจารณาข้อมูลระหว่างประเทศพบว่า สมาชิกองค์การอนามัยโลกหลายประเทศ มีการบูรณาการงานด้านสุขภาพจิต และยาเสพติดเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดเอกภาพทั้งในเชิงนโยบาย และการดำเนินงาน ดังนั้น ผมจึงมีนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุข บูรณาการงานด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดเข้าด้วยกัน เพื่อให้กรมสุขภาพจิต มีภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินงานบำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดอย่างครบวงจร"นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ได้พบกับนายกแพทยสภา เลขาธิการแพทยสภา จากการพูดคุยมีแนวโน้มที่ดีมาก แพทยสภาไม่ได้กีดกันการให้รับยาที่คลินิการที่มีเภสัชกร แต่มีบางโรคที่ห่วงใย ถ้าแยกแยะเพิ่มเติมและคุยกับสภาเภสัชกรรม ก็น่าจะมีทิศทางที่ดีอันนี้เป็นความเข้าใจของตน แต่ถ้าคุยแล้วมีผลประการใดหรือไม่จบ จะแจ้งให้ทราบ กรณีปวดหัว ปวดท้อง หรืออื่นๆ ดูเหมือนเล็กน้อย แต่เล็กน้อยนี้อาจเป็นเหตุปัญหา เช่น ไส้ติ่ง ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าการแยกแยะ จะแยกแยะอย่างไร คิดว่าถ้าเจอเภสัชกรคงแยกแยะได้ ดังนั้นจะให้ฝ่ายละ 3 คน มาคุยกัน และผมจะคุยด้วย คุยแล้วจบหรือไม่จบก็ไม่เป็นไร แต่คิดว่าน่าจะดีขึ้น เดินต่อได้