นายกรัฐมนตรียันรัฐบาลสร้างโอกาสที่จับต้องได้ "อาหาร-สุขภาพ- Soft Power" สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ
เมื่อวันที่ 21 พ.ย.67 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา PRACHACHAT OUTLOOK THAILAND 2025 : โอกาส ความหวัง ความจริง พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ประเทศไทย : โอกาส-ความหวัง-ความจริง" จัดโดย หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เพื่อเป็นเวทีถ่ายทอดนโยบายทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเจริญเติบโตกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เคลื่อนไปไม่หยุดยั้ง โดยผู้มีประสบการณ์ นักคิด นักธุรกิจ ฯลฯ ร่วมระดมความรู้ในหัวข้อต่าง ๆ โดยมีคณะผู้บริหารเครือมติชน ภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ นักศึกษา สื่อมวลชนเข้าร่วมงาน
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณผู้บริหาร กลุ่มมติชน โดย นสพ. ประชาชาติธุรกิจ ที่ให้โอกาสได้มาบอกเล่าภาพประเทศไทย ในปี 2025 ที่รัฐบาลมองเห็นว่าเป็นอย่างไร โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลพยายามที่จะสร้างโอกาสให้กับคนไทยให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะ "โอกาสที่จับต้องได้" ซึ่งชื่นชอบคำว่า "โอกาสที่จับต้องได้" เป็นพิเศษ เพราะแปลว่าจะสามารถใช้โอกาสเพื่อให้เกิดประโยชน์กับชีวิตได้ คือสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องการให้เกิดขึ้น รัฐบาลเชื่อมั่นว่า คนไทยมีศักยภาพที่สูง เพียงแค่ขาดโอกาสที่จะเข้าถึง หรืออาจมีการสนับสนุนไม่เพียงพอ การกระจายโอกาสจึงสำคัญมาก ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการทำเรื่องนี้ แต่บางสิ่งเกิดปัญหาสะสมมายาวนานต้องใช้การดำเนินการหลายวิธีเพื่อผลักดันประเทศชาติและเศรษฐกิจของประเทศให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแรง โดยอย่างแรกที่รัฐบาลต้องการดำเนินการคือ การกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจก่อน เพื่อให้คนในประเทศกินอยู่ที่ดีขึ้น เพราะถ้าคนไทยกินดีอยู่ดีก็จะมีศักยภาพ ซึ่งหากความต้องการขั้นพื้นฐานยังไม่ถูกเติมเต็ม การที่จะมีความคิดสร้างสรรค์หรือการที่จะมีแรงผลักดันประเทศก็จะเป็นไปได้ยาก รัฐบาลจึงพยายามที่จะกระจายโอกาสตรงนี้ไปให้มากที่สุดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปัจจุบันเกี่ยวกับตัวเลข GDP ปีนี้ ว่า อยู่ประมาณ 2.7% อยู่ในช่วงฟื้นตัว ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยล่าสุดสภาพัฒน์ฯ ได้มีการแถลงตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ถือเป็นสัญญาณที่ดีทางเศรษฐกิจของไทย โดยรายได้หลักมาจากการลงทุนของรัฐบาล รวมถึงจากการท่องเที่ยว มียอดนักท่องเที่ยวเพิ่มมากกว่า 28 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว และคาดว่าในปีนี้จะมียอดนักท่องเที่ยวสูงถึง 36 ล้านคนและอาจจะขึ้นไปถึง 40 ล้านคนได้ในปีหน้า เท่ากับสถิติเดิมก่อนเกิดโควิด-19 ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยกำลังกลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่ จากการขับเคลื่อนนโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลทั้งวีซ่าฟรี การพัฒนาการบริการของสนามบิน นโยบาย Festival Country ที่รัฐบาลนี้ได้ทำต่อเนื่องจากรัฐบาลนายกฯ เศรษฐาฯ ทั้งนี้ จากการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ก็คาดว่าจะโตกว่าที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี
"การเดินทางไปเยือนต่างประเทศและได้มีการหารือกับต่างประเทศว่าหลายประเทศมีความสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทย หากการเมืองประเทศไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น ก็จะทำให้ต่างประเทศมีความเชื่อมั่น ที่จะมาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเชื่อมั่นกับทุกคนว่ารัฐบาลจะสามารถอยู่จนครบเทอมได้ เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติมั่นใจได้ว่าการลงทุนจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงสานต่อนโยบายที่รัฐบาลอดีตนายกฯ เศรษฐาฯ ดำเนินการไว้ เพื่อทำให้ต่างชาติและนักลงทุนเชื่อมั่นว่าการลงทุนไปแล้วไม่สะดุด โดยสิ่งแรกที่รัฐบาลต้องเร่งทำคือ การใช้งบลงทุนกว่า 9.6 แสนล้านบาท ให้เต็มประสิทธิภาพ รวมถึงงบลงทุนรัฐวิสาหกิจด้วย ซึ่งปกติจะใช้กันไม่ค่อยหมด โดยปีหน้ากำชับว่า ให้ใช้กันให้ทัน ให้คุ้มค่าภาษี"นายกรัฐมนตรี ระบุ
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงปัจจัยภายนอกที่จะส่งผลต่อมาตรการทางการค้า ทั้งการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองของอเมริกา เพราะประเทศไทย พึ่งพาการส่งออกถึง 60% ของ GDP โดยการส่งออกไปอเมริกา คิดเป็นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกทั้งหมด ความเปลี่ยนแปลงนี้ ย่อมส่งผลถึงเศรษฐกิจไทยในปีหน้า พร้อมย้ำสิ่งสำคัญที่ต้องประเมินควบคู่ด้วยคือการผลักดันเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ซึ่งจะต้องคิดถึงเรื่อง economy of scale เป็นสำคัญ เช่น รัฐต้องช่วยในเรื่องของภาษี รวมถึงการเรื่องของกฎหมายข้อบังคับให้หนักแน่นยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อดูแลช่วยเหลือ SME ของไทยด้วย รวมทั้งอีกหนึ่งในทางรอดของไทยในปีหน้า คือต้องสร้างอุตสาหกรรมที่ใช้วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์เป็นตัวนำ มีเอกลักษณ์ที่คนอื่นลอกเลียนแบบกันไม่ได้โดยง่าย มีเสน่ห์เฉพาะตัวที่ใคร ๆ ก็ชอบ และต้องสามารถพัฒนาไปตามยุคสมัยได้ โดย 3 โอกาสที่จับต้องได้ และ กำลังพัฒนาอยู่ คือ
1) โอกาสในอาหาร นายกรัฐมนตรีย้ำถึงโอกาสในอาหาร ว่า ประเทศไทยมีความพร้อมอย่างมากที่จะเป็นครัวโลกและ food security เพราะมีความมั่นคงทางด้านอาหาร อุดมสมบูรณ์ และสงบสุข โดยต้องนำเทคโนโลยีพัฒนาและถนอมอาหารให้มีคุณภาพและยังคงมีความสดใหม่จนถึงปลายทาง เพื่อให้การส่งออกวัตถุดิบทางการเกษตร และการส่งออกอาหารไทยไปทั่วโลกมากขึ้น รองรับความต้องการของหลายประเทศซึ่งมีความมั่นคงทางอาหารอย่างมาก เช่น ประเทศจีน ที่การผลิตอาหารในประเทศไม่เพียงพอ ซึ่งหนึ่งในสิ่งจีนต้องการมากคือ เนื้อวัวจากประเทศไทย โดยต้องมีการยกระดับคุณภาพในการส่งออกทั้งการตรวจคัดกรองโรคในวัว การยกระดับคุณภาพพันธุ์ เพื่อให้ต่างประเทศยอมรับในมาตรฐานซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสมากขึ้น รวมทั้งการหาแนวทางในการนำความมีเสน่ห์และคุณค่าที่อาหารไทยมีอยู่ มาพัฒนาสร้างคุณค่าและเพิ่มราคาให้สูงขึ้น โดยการฟื้นโครงครัวไทยสู่ครัวโลก ทั้งการขายอาหารไทยสำเร็จรูปต่าง ๆ รวมไปถึงเร่งผลิตเชฟอาหารไทยระดับมืออาชีพให้มากขึ้น ผ่านโครงการ หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งเชฟอาหารไทย เพื่อสร้างอาชีพตรงนี้ได้มากขึ้นด้วย
2) โอกาสในสุขภาพ หรือ Wellness ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีต้นทุนอยู่สูงมาก ทั้งเรื่องของอาหารไทยที่ดีต่อสุขภาพ สมุนไพรไทยหลากหลาย ระบบการรักษาที่ดี สามสิบบาทรักษาทุกโรคที่มีการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ หลักประกันสุขภาพของคนไทย ที่ทั่วโลกให้การยอมรับ รวมถึงเรื่องของโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงในระดับโลกหลายแห่ง ทั้งในทางการแพทย์ และการบริการ นอกจากนี้ ยังมีภาคบริการเชิงสุขภาพอีกหลายรูปแบบ ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เช่น การฟื้นฟูจิตใจ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย เช่น มวยไทย ซึ่งได้รับความนิยมและโด่งดังไปทั่วโลก ตรงนี้จะมีการนำวิชามวยไทยมา Upskill และ Reskill เพื่อให้ certificate เป็นการรับรองมาตรฐานและเพื่อให้สามารถเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนได้ด้วย รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยใน Wellness เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพในทุกด้าน ทั้งเรื่องสมุนไพรไทยและสารสกัดจากพืชผักของไทยมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อสร้างมูลค่าให้มากขึ้น โดยในอนาคตทำให้ประเทศไทยเป็น Hub Wellness ให้คนทั่วโลกคิดที่จะดูแลสุขภาพก็จะเดินทางมาประเทศไทยได้
3) โอกาสในอุตสาหกรรมที่สร้าง Soft Power ซึ่งรัฐบาลได้เริ่มดำเนินการนโยบาย Soft Power เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยรัฐบาลมองเห็นศักยภาพในวัฒนธรรมไทยที่มีเสน่ห์ มีของดี มีเอกลักษณ์ โดยรัฐบาลให้คุณค่าเรื่องนี้อย่างมากในการที่จะทำให้ “คุณค่า” ในวัฒนธรรมไทยกลายเป็น “มูลค่า” เพื่อยกระดับชีวิตของประชาชน นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ดำเนินการในหลายอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็น การยกระดับเทศกาลสงกรานต์ เทศกาลฤดูหนาวปลายปี การให้เงินสนับสนุนภาพยนตร์ไทยไปปรากฏในเวทีโลก การเพิ่ม cash rebate จาก 20 % เป็น 30 % ให้กับกองถ่ายที่มาถ่ายทำในประเทศไทย เพื่อประหยัดต้นทุนในการถ่ายทำได้ ซึ่งจากการที่นายกรัฐมนตรีได้ไปพูดคุยกับบริษัทผลิตภาพยนตร์หลายบริษัทในอเมริกา มาตรการนี้ได้รับการตอบรับที่ดีมาก โดยปีที่ผ่านมาพบว่า เพียงปีเดียว มีถึง 40 ประเทศที่เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ประมาณ 450 เรื่อง สามารถสร้างเม็ดเงินในประเทศไทยได้ถึงประมาณ 190 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมาตรการนี้ นอกจากจะดึงดูดกองถ่ายต่างประเทศให้เข้ามาในประเทศมากขึ้นแล้ว ยังหวังว่าคนทำหนังไทยที่เก่งอยู่แล้ว จะได้พัฒนาองค์ความรู้จากกองถ่ายต่างชาติต่อยอดวงการหนังไทยต่อไป
นายกรัฐมนตรีย้ำว่าทั้งหมดนี้รัฐบาลทำนโยบายเพื่อสร้าง Ecosystem ที่เอื้อให้เกิดการเติบโตกับทุกอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ รวมไปถึงอยากให้เกิดเกมไทยแบบ โฮมสวีทโฮม ที่นำความเชื่อ ความน่ากลัวแบบผีไทย นำเรื่องราวของไสยศาสตร์แบบไทย มาเล่าเรื่องสร้างเอกลักษณ์ให้เกมไทย ผสมกับเทคโนโลยีการสร้างเกม ให้ดังไกลไปทั่วโลก ต้องการให้สร้างภาพยนตร์แบบเรื่องหลานม่ามากขึ้น เพราะเป้าหมายของรัฐบาลต้องการที่จะหาฮีโร่ในทุกอุตสาหกรรม ทุกจังหวัดให้กับประเทศเพื่อให้ทุกคนได้เกิดความภาคภูมิใจในพื้นที่นั้น ๆ สามารถที่จะพูดกับทั่วโลกได้ว่าประเทศไทยมีความเก่งและความชำนาญในหลายด้าน นอกจากนี้สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือเรื่องพลังงาน ที่ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ แหล่งแก๊สธรรมชาติที่อ่าวไทยมีวันหมดและจากการคาดการณ์อาจจะไม่เกินอีกสิบปีอย่างแน่นอน จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ที่เราต้องหาแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ เพื่อเป็นเชื้อเพลิงของประเทศไทย เพราะนอกจากการคมนาคมแล้ว เรายังใช้ในการผลิตไฟฟ้าด้วย รวมไปถึงรัฐบาลก็ยังสนับสนุน พลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก อย่าง solar cell ตลอดจนเรื่องของ semiconductors ที่เราก็กำลังศึกษาว่ามีแนวโน้มอย่างไร ประเทศไทยจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับอุตสาหกรรมนี้ในทางไหนได้บ้าง ทั้งหมดเป็นสิ่งที่รัฐบาลมองเห็นโอกาสของประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลก็พยายามที่จะหาเม็ดเงินใหม่เข้ามาเติมทั้งเงินจากต่างประเทศหรือเงินที่เกิดจากรายได้ใหม่ ๆ ที่เกิดในประเทศไทยด้วย