เยรูซาเล็ม, 21 พ.ย. (ซินหัว) — เมื่อวันพุธ (20 พ.ย.) มหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งเยรูซาเล็มเปิดเผยว่าทีมนักวิจัยของอิสราเอลได้พัฒนาวิธีการทางพันธุกรรม เพื่อฟื้นฟูระบบควบคุมดีเอ็นเอ (DNA) ของสมองมนุษย์ยุคโบราณ แม้ไม่มีเนื้อเยื่อสมองอยู่มานานหลายล้านปีแล้ว
วารสารเนเจอร์ อีโคโลจี แอนด์ อีโวลูชัน (Nature Ecology & Evolution) เผยแพร่ผลการศึกษาที่ระบุว่าทีมนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฯ สร้างอัลกอลิธึมที่ฟื้นฟูภูมิทัศน์การทำงานของยีน (epigenetic) ของสมองมนุษย์ยุคโบราณ ซึ่งเป็นการดัดแปลงทางเคมีกับดีเอ็นเอที่ควบคุมการทำงานของยีนโดยไม่เปลี่ยนแปลงลำดับดีเอ็นเอ
วิธีการข้างต้นเอื้อต่อการเปรียบเทียบกับสมองมนุษย์ยุคปัจจุบัน มอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสมองมนุษย์ ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นสามเท่าในช่วงสองล้านปีที่ผ่านมา พร้อมขีดความสามารถอันมีลักษณะเฉพาะ เช่น ภาษาและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่
ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของการทำงานของยีน และค้นพบความแตกต่างทางวิวัฒนาการที่ไม่สามารถตรวจพบด้วยการเปรียบเทียบทางพันธุกรรมแบบดั้งเดิม เนื่องจากลำดับดีเอ็นเอจากยุคสมัยต่างๆ อาจเหมือนกัน
อัลกอลิธึมของทีมนักวิทยาศาสตร์เผยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของการทำงานของยีนกว่า 1,850 จุด ลักษณะโดดเด่นบางส่วนของสมองมนุษย์ยุคใหม่ที่แตกต่างจากมนุษย์ยุคโบราณและลิงชิมแปนซี โดยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นภายในยีนที่มีความสำคัญกับการพัฒนาสมอง รวมถึงยีนที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญาและความสามารถรู้คิด
ทีมนักวิจัยระบุว่าวิธีการนี้สามารถประยุกต์ใช้กับการศึกษาความแตกต่างทางวิวัฒนาการอื่นๆ เช่น ความแตกต่างทางวิวัฒนาการระหว่างผิวหนังของมนุษย์กับลิงชิมแปนซี หรือพัฒนาการของหัวใจมนุษย์