โรคอ้วน
โรคอ้วนไม่ใช่เพียงภาวะน้ำหนักตัวเกินจากไขมันสะสมที่มากเกินเกณฑ์เท่านั้น แต่ยังนำพามาสู่ปัญหาโรคอันตรายอื่นๆ ที่รักษาได้ยากและส่งผลร้ายต่อสุขภาพในระยะยาว ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคอ้วนมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เร่งรีบและละเลยสุขภาพของตนเอง ทำให้เกิดการสะสมของไขมัน
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคอ้วน (Obesity) เป็น 1 ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases : NCDs) ที่ชักนำไปสู่โรคอื่นๆ มากมาย เช่น ไขมันสูง ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ สมองขาดเลือด หัวใจขาดเลือด นิ่วในถุงน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ ข้อเข่าเสื่อม กรดไหลย้อน เส้นเลือดดำอุดตัน เป็นต้น ประเทศไทยเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา โรค NCDs สูงกว่า 62,138 ล้านบาท และมีคนไทยต้องเสียชีวิตจากโรค NCDs ปีละกว่า 400,000 ราย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายแก้ไขปัญหา โดยผลักดันการส่งเสริมสุขภาพและแนวคิดวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีไปสู่การปฏิบัติ พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมาย มาตรการต่างๆ ให้เอื้อในการต่อสู้กับโรค NCDs สนับสนุนแนวคิดสุขภาพดี สิทธิประโยชน์เพิ่ม รวมถึงส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs เพื่อลดอัตราการป่วยก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา ลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยในผู้ป่วยรายเก่า และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนและของประเทศ
นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าวว่า โรคอ้วนเกิดขึ้นเมื่อมีปริมาณไขมันในร่างกายที่มากเกินไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคและปัญหาสุขภาพอื่นๆ โรคที่ซับซ้อนนี้อาจเป็นผลมาจากปัจจัยที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม อาหาร ปัจจัยส่วนบุคคล ตลอดจนการเลือกออกกำลังกาย ปัจจุบันคนไทยป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs เป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น กินอาหารหวานจัด เค็มจัด ไม่ออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ นอนดึก มีความเครียดสูง เป็นต้น โดยในปี 2565 มีสถิติโรคอ้วนจาก World Obesity Federation พบว่า ทั่วโลกมีคนเป็นโรคอ้วนประมาณ 800 ล้านคน และข้อมูลของ สสส. ในปี 2557 ถึงปัจจุบันพบว่าคนไทย 19.3 ล้านคน คิดเป็น 34.1% มีภาวะ “อ้วน” และมีคนไทยที่รอบเอวเกิน (อ้วนลงพุง) กว่า 20.8 ล้านคน คิดเป็น 37.5% ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้ อาจเสี่ยงป่วยเป็นโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs ได้ แต่โรคนี้ก็สามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นได้โดยการลดน้ำหนักไม่ให้เป็นโรคอ้วนนั่นเอง
นพ.เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์ คลินิกโรคอ้วนครบวงจร กลุ่มงานศัลยศาสตร์ รพ.ราชวิถี กล่าวว่า รพ.ราชวิถี มีคลินิกโรคอ้วนและเมแทบอลิซึม ที่ดำเนินงานโดยสหสาขาวิชาชีพ กำกับดูแลและพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลให้ได้รับการดูแลด้านโรคอ้วนและเมแทบอลิซึมอย่างเหมาะสมตามมาตรฐานของแผนงานข้อเสนอแนะด้านการพัฒนาระบบบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ และการผ่าตัดแผลเล็ก ปี 2565 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม กรมการแพทย์และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผู้ป่วยคลินิกโรคอ้วนและเมแทบอลิซึมจะได้รับการดูแลตั้งแต่การคัดกรอง การรักษาผ่าตัด และการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดโดย พญ.นวพร นภาทิวาอํานวย อายุรแพทย์ต่อมไรท่อและโภชนาการบำบัด และพญ.ศิวพร เลิศพงษ์พิรุฬห์ อายุรแพทย์โรคปอดและการนอนหลับ นพ.ภคภณ ทัดศรี และพญ.รัชมน ภิญโญเทพประทาน ศัลยแพทย์ผ่าตัดผ่านกล้องและรักษาโรคอ้วน พญ.นันทริกา เหลืองสุวรรณ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และทีมสหสาขาวิชาชีพ ทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs และช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการปรับพฤติกรรม ทั้งการกินอาหารให้เหมาะสมกับการใช้พลังงาน ด้วยการนับคาร์บหรือคาร์โบไฮเดรตที่มาจากอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล รวมถึงมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยในผู้ป่วยรายเก่า อีกทั้งลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนและรัฐบาลได้
ปัจจุบันคลินิกโรคอ้วนและเมแทบอลิซึม รพ.ราชวิถี ได้ดำเนินการมากว่า 3 ปี สถิติและผลการดำเนินงานในภาพรวม (ตั้งแต่ปี 2565 ถึงปัจจุบัน) มีผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดลดน้ำหนักทั้งสิ้น 160 คน แบ่งเป็น เพศชาย จำนวน 30 คน เพศหญิง จำนวน 130 คน ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เฉลี่ยของผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด คือ 47.67 น้ำหนักเฉลี่ยของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด คือ 127 กิโลกรัม น้ำหนักสูงสุดของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด คือ 326 กิโลกรัม น้ำหนักเฉลี่ยของผู้ป่วยหลังผ่าตัดครบ 1 ปี คือ 88 กิโลกรัม น้ำหนักส่วนเกิน (Excess weight loss) หลังผ่าตัดลดลง 68.4% ที่ 1 ปี โดยที่ผ่านมาการเข้ารับบริการของผู้ป่วยโรคอ้วน ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นผู้ป่วยสามารถพบทีมสหสาขาวิชาชีพ ได้ในวันเดียวกันซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาลของผู้ป่วย ลดความหนาแน่นที่ห้องตรวจศัลยกรรมทั่วไป และเพิ่มความพึงพอใจต่อการเข้ารับบริการ ทำให้ผู้ป่วยโรคอ้วนสามารถรวมกลุ่มให้กำลังใจกันและกันได้ง่ายมากขึ้น รวมถึงช่วยฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วยให้กลับมาใกล้เคียงปกติและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น