รมว.สาธารณสุขลุยชลบุรีเปิดงานขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs ครั้งที่ 4 หวังลดการเจ็บป่วย เสียชีวิต
เมื่อวันที่ 22 พ.ย.67 ที่ศาลาประชาคมอ่าวอุดม ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ตสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดงานการขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ครั้งที่ 4 กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เป็นสาเหตุหลักของการเจ็บป่วย และการเสียชีวิตของคนไทย มีส่วนทำให้ประเทศชาติสูญเสียมหาศาล ทั้งค่ารักษาทางตรง และมูลค่าเศรษฐกิจทางอ้อม โดยนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่งเสริมวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะการกิน การนับคาร์บ คำนวณสัดส่วนอาหาร ไปจนถึงการออกกำลังกาย ซึ่ง จ.ชลบุรี มีผู้ป่วยเบาหวานประมาณ 80,000 คน และมีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงประมาณ 150,000 คน วันนี้ ถือเป็นโอกาสดี ที่ผมได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานการขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ครั้งที่ 4 ที่ จ.ชลบุรี ซึ่งงานในวันนี้ เป็นหมุดหมายสำคัญที่เราทุกคน ผู้บริหาร บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พี่น้อง อสม. และพี่น้องประชาชนชาวชลบุรี จะได้ร่วมกันทำงาน เริ่มนับคาร์บ เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่ และลดความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยรายเดิม เพื่ออนาคตของระบบสาธารณสุขที่ยั่งยืน และประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนต่อไป
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ภายในสิ้นเดือนนี้ ตนจะสามารถทำความเข้าใจเรื่อง NCDs ครบ 12 เขตสุขภาพ เพื่อลดการเจ็บป่วย และเสียชีวิต เพราะปัจจุบัน เรามีคนเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรค NCDs ถึง 4 แสนคน และป่วยเพิ่มถึงปีละ 2 ล้านราย ทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 1.6 ล้านล้านบาท ดังนั้น การขับเคลื่อนโครงการคนไทยห่างไกล NCDs ในเฟส 1 ตนจะเดินหน้าสอนการนับคาร์บ โดยการนับคาร์บ เป็นการทำสถิติเป็นร้อยปี ของนักวิทยาศาสตร์ Harris Benedict Equation หากใครทำตามได้ ก็จะทำให้ทานข้าวได้เหมาะสมกับร่างกาย ซึ่งนอกจากไม่ป่วยแล้ว ยังทำให้สวย หล่อ เนื่องจากหุ่นจะดีขึ้นด้วย
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การคำนวณปริมาณการรับประทานคาร์โบไฮเดรต หรือ ข้าวของแต่ละบุคคลในแต่ละวัน เป็นการคำนวณจากอายุ ส่วนสูง น้ำหนัก กิจกรรมทางกายในแต่ละวัน หรือเรียกว่า กินคาร์บ จะคำนวณออกมาเป็นปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่อวันที่เหมาะสมของแต่ละคน ซึ่งกำหนดเป็นทัพพีมาตรฐานที่ 15 กรัมต่อทัพพี โดยหน่วยจะออกมาเป็น คาร์บ เช่น หากคำนวณได้ 6 คาร์บ ก็จะเท่ากับทานข้าวได้วันละ 6 ทัพพีมาตรฐาน ส่วนที่หลายคนกังวลว่า ทานข้าวน้อยจะหิวนั้น ตนขอย้ำว่า ไม่ต้องตกใจ เพราะกินอย่างอื่นเพิ่มได้ เช่น ปลา หมู ไก่ โดยตนขอให้ลดข้าวไปก่อน ส่วนคนทำงานหนัก ก็ยังสามารถกินข้าวได้ตามปกติ แต่คนใกล้ป่วย หรือ อ้วน ก็ต้องนับคาร์บ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะป่วยจากกลุ่มโรค NCDs
นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า วันนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้มาขับเคลื่อนโครงการคนไทยห่างไกล NCDs ในเขตสุขภาพที่ 6,4 รวม 16 จังหวัด ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้ให้กับ อสม. เข้าใจการนับคาร์บ หรือ ปริมาณคาร์โบไฮเดรต เพราะประชาชน ควรรู้ว่า แต่ละวันควรทานคาร์โบไฮเดรตเท่าไหร่ โดยขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับ อสม.แล้ว 58 จังหวัด มีอสม.ที่เข้าใจการนับคาร์บแล้วกว่า 5 แสนคน ซึ่งในเดือนนี้ ตนตั้งเป้าหมายไว้ให้ครบทั้งหมด เพื่อให้ อสม.ไปแนะนำประชาชนทั้งประเทศต่อไป
จากนั้น นายสมศักดิ์ พร้อมคณะ ได้เดินทางต่อไปยังโรงพยาบาลชลบุรี เพื่อเปิด"ศูนย์การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเอ็มอาร์ไอ (MRI)" และเยี่ยมชมการให้บริการประชาชน พร้อมรับฟังบรรยายภาพรวมและแผนการพัฒนาโรงพยาบาลชลบุรี โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนมีความยินดี ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เอ็มอาร์ไอ ที่โรงพยาบาลชลบุรี ในวันนี้ ซึ่งเครื่องเอ็มอาร์ไอ เป็นเทคโนโลยีที่ใช้สนามแม่เหล็กความเข้มสูง และคลื่นความถี่ ในย่านความถี่วิทยุ มาใช้ในการสร้างภาพที่มีความละเอียดสูง ช่วยเพิ่มศักยภาพในการวินิจฉัยโรคให้มีความแม่นยำ ลดระยะเวลาตรวจ จากเดิม 25-30% และเปิดบริการได้ตลอด 24 ชม. โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ห้วงกลางเดือนธันวาคม จึงขอขอบคุณ โรงพยาบาลชลบุรี ผู้ประกอบการภาคเอกชน ที่ร่วมกันสนับสนุนให้เกิดโครงการดีๆเช่นนี้ ซึ่งโครงการนี้ จะเป็นก้าวสำคัญ ในการยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ และเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 6 และภาคตะวันออก ที่จะได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นครับ
นายสมศักดิ์ ยังได้มอบโอวาทว่า ถ้าคนปฎิบัติตัวดีขึ้น หลอดเลือดสะอาดมาก จะเอาออกมาได้หรือไม่ เพราะตนคิดว่า เส้นเลือดตนสะอาด เนื่องจากความดันลดลง จึงขอให้เป็นการบ้านผู้บริหารว่า ในอนาคตอาจจะได้เห็นพัฒนาการทางการแพทย์ไปอีกไกล ดังนั้น ถ้าคิดนอกกรอบ ก็จะได้การพัฒนาที่หลากหลายขึ้น แต่ถ้าคิดไปในทางเดียวกันหมด ก็จะไม่พัฒนา โดยตนยินดีที่ได้มาพบบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งยินดีรับฟัง และพร้อมช่วยแก้ปัญหาในทุกด้าน