ซิดนีย์, 23 พ.ย. (ซินหัว) — นักวิจัยออสเตรเลียค้นพบหลักฐานโดยตรงที่เก่าแก่ที่สุดที่บ่งชี้ถึงการมีอยู่ของแหล่งน้ำร้อนบนดาวอังคาร ซึ่งเผยว่าดาวเคราะห์ดวงนี้อาจเคยเป็นสถานที่ที่สิ่งมีชีวิตดำรงอาศัยอยู่ได้
ในการศึกษาวิจัยที่เผยแพร่ในวันเสาร์ (23 พ.ย.) ทีมงานที่นำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคอร์ตินในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ได้วิเคราะห์เม็ดเซอร์คอน (zircon) อายุ 4.45 พันล้านปี จากอุกกาบาตชื่อดัง NWA7034 จากดาวอังคารที่มีฉายาว่า “ความงามสีดำ” (Black Beauty) ซึ่งพบในทะเลทรายซาฮาราเมื่อปี 2011
นักวิจัยพบว่าเม็ดแร่เซอร์คอน ซึ่งเป็นแร่ชนิดหนึ่ง มีร่องรอยทางธรณีเคมีของของเหลวที่มีน้ำมาก ซึ่งบ่งชี้ว่าเคยมีน้ำอยู่ในช่วงที่แมกมาของดาวอังคารเริ่มมีการเคลื่อนไหว
แอรอน คาโวซี ผู้เขียนร่วมของการศึกษาจากคณะธรณีวิทยาและดาวเคราะห์ของมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่าการค้นพบครั้งนี้จะปูทางสู่การทำความเข้าใจระบบแหล่งน้ำร้อน (hydrothermal systems) ของดาวอังคารโบราณ ตลอดจนศักยภาพการเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตในอดีตของดาวเคราะห์ดวงนี้
คาโวซีกล่าวว่าเราใช้ธรณีเคมีในระดับนาโนเพื่อตรวจจับหลักฐานธาตุของน้ำร้อนบนดาวอังคารเมื่อ 4.45 พันล้านปีก่อน
นอกจากนั้น คาโวซีเผยว่าระบบแหล่งน้ำร้อนจำเป็นต่อพัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลก และการค้นพบของเราชี้ให้เห็นว่าดาวอังคารมีน้ำเช่นกันในช่วงประวัติศาสตร์ยุคแรกสุดของการก่อตัวของเปลือกดาว ซึ่งน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับสภาพแวดล้อมการดำรงชีวิต
คาโวซีระบุว่าแม้เปลือกดาวของดาวอังคารจะเจออุกกาบาตพุ่งชนอย่างรุนแรงจนทำให้พื้นผิวเกิดการพลิกกลับ แต่ผลการวิจัยบ่งชี้ว่ามีน้ำอยู่บนดาวอังคารในช่วงก่อนยุคโนอาเคียน (Pre-Noachian) ตอนต้นเมื่อราว 4.1 พันล้านปีก่อน