"สุดาวรรณ"เผยไทยจับมือ 9 ประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมโครงการ ASEAN in One Cultural Garden พร้อมนำเสนอองค์ความรู้มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของไทย การดำเนินงานของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ การจัดแสดงโชว์โขน - โนรา ระหว่าง 25 - 29 พ.ย. ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา
เมื่อวันที่ 25 พ.ย.67 น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายนำมิติทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมมาส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยในภูมิภาคอาเซียนและเวทีนานาชาติ ดังนั้น วธ.จะส่งคณะผู้แทนประเทศไทย 2 ราย ได้แก่ นายเอกลักษณ์ หนูเงิน อาจารย์ภาควิชานาฏศิลป์ สาขานาฏศิลป์ไทยสร้างสรรค์ คณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และนายญาณวุฒิ ไตรสุวรรณ อาจารย์ภาควิชานาฏศิลป์ สาขานาฏศิลป์ไทย โขนยักษ์ คณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เข้าร่วมโครงการ ASEAN in One Cultural Garden ระหว่างวันที่ 25 - 29พ.ย.67 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา
ทั้งนี้ โครงการ “ASEAN in One Cultural Garden” จะดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยภูมินทร์วิจิตรศิลปะ ราชอาณาจักรกัมพูชา ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Cultural Fund: ACF) มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมอัตลักษณ์และสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้และการให้ความสำคัญด้านมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะด้านศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิม ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดและประสบการณ์ในการอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ การแสดงนาฎศิลป์รายประเทศและการแสดงร่วมโดยประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ
รมว.วัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ช่วงระหว่างการดำเนินโครงการดังกล่าว คณะผู้แทนจากประเทศไทยจะได้เข้าร่วม 3 กิจกรรม ประกอบด้วย 1.การนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องการอนุรักษ์และการส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของไทย (The Preservation and promotion of the Intangible Cultural Heritage) การจัดการแสดงรายประเทศ ชุด “โขน-โนรา มรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติไทย” และการแสดงร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศในการแสดงชุด "ASEAN in One Cultural Garden" คณะผู้แทนไทยได้ดำเนินการจัดเตรียมการนำเสนอเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกของประเทศไทย จำนวน 4 รายการ ได้แก่ โขน ได้รับการขึ้นทะเบียน เมื่อปี 2561 นวดไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2562 โนรา ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2564 และสงกรานต์ ได้รับการขึ้นทะเบียน เมื่อปี 2566 และอยู่ระหว่างการเสนอต้มยำกุ้งเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การยูเนสโกอีก 1 รายการ ภายในปี 2567 รวมทั้งจะเสนอให้ชุดเคบายา (Kebaya) เป็นรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ร่วมกับ 5 ประเทศ ประกอบด้วย มาเลเซีย บรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐอินโดนีเซียและสาธารณรัฐสิงคโปร์
นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยจะนำเสนอในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในการสืบสาน เผยแพร่ และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของไทย ผ่านการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพันธกิจของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในการผลิตนักเรียน/นักศึกษาด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์ให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ เช่น การดำเนินโครงการมหกรรมศิลปวัฒนธรรมทั่วทิศแผ่นดินไทย การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง การจัดการอบรมหลักสูตรระยะสั้นด้านนาฏศิลป์สำหรับผู้สนใจและผู้ที่ต้องการต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทย การแสดงมหกรรมศิลปวัฒนธรรมไทย 4 ภาค เฉลิมพระเกียรติฯ การจัดตั้งเรินหนังลุง โนรา ณ วิทยาลัยนาฏศิลปพัทลุง รวมทั้งผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในภูมิภาคอาเซียน
น.ส.สุดาวรรณ กล่าวด้วยว่า 2.การแสดงรายประเทศโดยในส่วนของประเทศไทย จะนำเสนอการแสดงชุด “โขน-โนรา มรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติไทย” ซึ่งเป็นการแสดงโขนอย่างราชสำนักไทยผสมผสานกับการแสดงโนราอันเป็นศิลปะพื้นบ้านจากภาคใต้ของไทย ซึ่งได้รับการจดทะเบียนจากยูเนสโก ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยในส่วนของการแสดงโขน ได้นำ “รามสูร” หนึ่งในตัวละครตัวเรื่องรามเกียรติ์ เป็นอสูรเทพบุตรที่อยู่บนสรวงสวรรค์ มีฤทธิ์มาก นิสัยดุร้าย และมีอาวุธคือขวานเพชรและศรที่พระอิศวรประทานให้ รามสูรอาศัยอยู่ในกลีบเมฆบนสวรรค์ และเมื่อรามสูรเห็นนางเมขลา ซึ่งเป็นนางฟ้าที่มีแก้ววิเศษก็อยากได้ จึงเข้าแย่งชิง เมื่อแย่งไม่ได้ก็โกรธจึงขว้างขวานใส่นางเมขลา และเป็นที่มาของความเชื่อดั้งเดิมของคนไทยในการเกิดฟ้าร้อง ฟ้าผ่า จากนั้นต่อด้วยการแสดงโนรา อันเป็นศิลปะการแสดงพื้นเมืองภาคใต้ของประเทศไทยที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตและความเชื่อ พิธีกรรมของชาวไทยมาช้านาน ท่วงท่าที่มีความเข้มแข็งผสมกับความอ่อนช้อยงดงาม แฝงไว้ด้วยเสน่ห์และมนต์ขลังที่สะท้อนเอกลักษณ์และคุณค่าแห่งความเป็นไทย 3.การแสดงร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน ชุด "ASEAN in One Cultural Garden" จะเป็นการแสดงที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่โดยมีแนวคิดว่า ประเทศสมาชิกอาเซียน พร้อมยืนหยัดร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน เปรียบประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศเป็นดั่งดอกไม้ที่มีความหลากหลาย แต่ทว่าเต็มไปด้วยความสามัคคีและความเป็นหนึ่งเดียวกันทั่วทั้งภูมิภาค จนเกิดเป็นอุดมคติที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมีร่วมกัน และพร้อมส่งเสริมความร่วมมือทางวัฒนธรรมภายในภูมิภาคอย่างยั่งยืน
"ประเทศไทยโดยกระทรวงวัฒนธรรมพร้อมให้การสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งมิติด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้น แข็งแกร่ง และมีความเป็นเอกภาพในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของภูมิภาคอาเซียนร่วมกัน จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปสู่ทั่วโลก ซึ่งจะสนับสนุนความเข้มแข็งด้านวัฒนธรรม สังคมและเศรษฐกิจในภูมิภาคของเรามากยิ่งขึ้น" รมว.วัฒนธรรม กล่าว