ปภ. จ่อเชิญผู้ว่าฯ ภาคใต้ประชุมรับทราบหลักเกณฑ์เยียวยาน้ำท่วม หลัง ครม. เคาะงบกลางจ่าย 5,000 ล้าน
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 67 นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กล่าวถึงกรณีที่ ปภ.ประกาศแจ้งเตือนให้จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์ท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ระหว่างวันที่ 3-5 ธ.ค.นี้ ว่า ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันสร้างโมเดลจำลองสถานการณ์ในห้วงเวลาดังกล่าวแล้ว ปรากฏกลุ่มฝนที่เกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนผ่านภาคใต้ของประเทศไทย รวมถึงบริเวณอ่าวไทยทำให้เกิดฝนตกหนักและหนักมากในบางพื้นที่ ทางกอ.ปภ.กลาง จึงได้ประกาศแจ้งเตือน 12 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ 4 จังหวัด ได้แก่สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส อาจเกิดฝนตกหนักมาก แต่ไม่เท่าในช่วงปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา จึงได้ให้แต่ละจังหวัด เตรียมรับมือกับสถานการณ์เบื้องต้นเอาไว้ก่อน ตามแผนเผชิญเหตุ ส่วนหย่อมความกดอากาศต่ำที่จะเคลื่อนผ่านไทยในช่วงวันที่ 11-12 ธ.ค. ได้รับรายงานว่าเป็นการก่อตัวที่อยู่นอกเขตทะเลจีนใต้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะผ่านทะเลจีนใต้ก็อาจไม่เข้าในประเทศไทย แต่ทางปภ. ยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นายภาสกร กล่าวต่อว่า สำหรับการฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ เป็นมาตรการทั่วไปที่แต่ละจังหวัดมีแผนการเผชิญเหตุ อาทิ การทำความสะอาด การฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภค การสาธารณสุข พร้อมหน่วยแพทย์เข้าไปดูแลประชาชน ขณะที่การเยียวยาทางรัฐบาล ได้เร่งรัดนำข้อมูลภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ นำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และจัดทำโครงการเร่งด่วนขออนุมัติงบกลาง 5,000 ล้านบาท ในการเยียวยาประชาชน 12 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ มาตรฐานเดิมกับอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ สูงสุด 9,000 บาท ต่อครัวเรือน เฉพาะในปี 2567 เท่านั้น ส่วนในปีหน้าให้กลับมาใช้หลักเกณฑ์ตามเดิม หลังจากนี้จะเชิญผู้ว่าราชการทั้ง 12 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบเข้ารับทราบหลักเกณฑ์เยียวยาและเร่งรัดสำรวจความเสียหาย
นายภาสกร กล่าวอีกว่า สถานการณ์ในขณะนี้เริ่มคลี่คลายลงแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้การแก้ไขปัญหาน้ำค่อนข้างเร็ว เพราะสามารถระบายน้ำออกทางทะเล แต่ยังมีอุปสรรคในบางช่วงที่เกิดจากน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งบางจังหวัดน้ำเริ่มแห้งเกือบหมดทั้งจังหวัดแล้ว ฉะนั้นในวันนี้อธิบดี ปภ.เตรียมลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และ เตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 3-5 ธ.ค. รวมทั้งติดตามความเสียหายภายหลังจากที่น้ำลดต่อไป