วิจัยต่อยอดนวัตกรรมการแพทย์แผนไทยดูแลผู้ป่วยกระดูกและข้อ

2024-12-20 18:31:59

วิจัยต่อยอดนวัตกรรมการแพทย์แผนไทยดูแลผู้ป่วยกระดูกและข้อ

Advertisement

สธ. จับมือราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์  สมาคมออร์โธปิดิกส์ วิจัยต่อยอดนวัตกรรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ดูแลผู้ป่วยกลุ่มอาการกระดูกและข้อ

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.67 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สู่การยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพ ร่วมกับ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช ประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และ รศ. พ.ต.ต. นพ.ธงชัย สุนทราภา นายกสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย

นพ.ศักดา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมด้านการแพทย์ เพื่อสร้างมาตรฐานทางการแพทย์สำหรับใช้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในการอ้างอิงทางวิชาการที่เชื่อมโยงกับการพัฒนานวัตกรรมยาสมุนไพร และบริการต่าง ๆ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย และสามารถนำไปต่อยอดขยายผลในการยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบัน โรคที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม, โรคกระดูกพรุน, และภาวะสมองเสื่อม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และยังพบว่า ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา ประชาชนเข้ารับการรักษากลุ่มอาการกระดูกและกล้ามเนื้อด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย กว่า 6.7 ล้านครั้ง ทั้งการนวดไทยหัตถบำบัด การใช้ยาสมุนไพร ยาใช้ภายในและภายนอก อาทิ ครีมไพล หรือน้ำมันไพล ยาพริก ยาประคบ ยาสหัสธารา ยาเถาวัลย์เปรียง รวมมูลค่ากว่า 6,400 ล้านบาท ซึ่ง การลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ ทั้ง 5 หน่วยงานจะร่วมกันศึกษา วิจัย และพัฒนาโครงการวิจัย เพื่อส่งเสริม พัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รวมถึงขับเคลื่อนบูรณาการความร่วมมือในการนำองค์ความรู้และงานวิจัยใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนายาจากสมุนไพรไทย และบริการทางการแพทย์แผนไทยฯเพื่อใช้ประโยชน์ ทั้งเชิงพาณิชย์ จัดทำนโยบายสาธารณะ เพิ่มศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วย รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างมาตรฐานทางการแพทย์สำหรับใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงทางวิชาการ ถ่ายทอดแนวปฏิบัติที่ดี วิธีการที่ถูกต้อง บนพื้นฐานแห่งความเสมอภาคและการประสานประโยชน์ร่วมกัน

ด้าน นพ.สมฤกษ์ กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านโรคกระดูกและข้อ จัดทำโครงการศึกษาวิจัยประสิทธิผลและความปลอดภัยของหัตถการพอกเข่ากลุ่มผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม (ซึ่งมีอาการใกล้เคียงกับ “โรคลมจับโปงแห้งเข่า”ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย) ในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ พบว่า การพอกเข่าเป็นหัตถการสำคัญที่ช่วยลดอาการปวด อาการฝืด และเพิ่มการเคลื่อนไหวข้อเข่าให้ดีขึ้น และลดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงสำคัญของยาแก้ปวดได้ ซึ่งล่าสุด กรมฯ ได้พัฒนารูปแบบยาพอกเข่าให้เป็นนวัตกรรมที่สะดวก นำไปใช้เองได้ง่าย เช่น แผ่นแปะ, สเปรย์, เจล , ลูกกลิ้ง เป็นต้น โดยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้บริการหัตถการพอกเข่า สำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมเป็นรายการในชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เพิ่มเติมให้กับประชาชนที่ไปรับบริการจากหน่วยบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นอกจากนี้ ยังมีการให้ยาสหัสธารา ในผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อบ่าหรือต้นคอ พบว่าสามารถลดอาการปวดไม่แตกต่างกับการใช้ยาแผนปัจจุบัน และไม่เป็นพิษต่อตับและไต เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือนี้ คาดหวังว่าจะเป็นการต่อยอดทางวิชาการ งานวิจัยสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคลากรทางการแพทย์นำบริการสู่ประชาชนเพื่อได้รับการดูแลรักษาที่มีประสิทธิผล ปลอดภัย และได้มาตรฐานสูงสุดต่อไป

ด้าน นพ.ธนินทร์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ มีโรงพยาบาลเลิดสิน เป็นหน่วยบริการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการรักษากลุ่มโรคทางด้านออร์โธปิดิกส์และมีการพัฒนาเครื่องมือให้มีความทันสมัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องทั้งภายในข้อและบริเวณกระดูกสันหลัง รวมถึงพัฒนาด้านการวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับกระดูกและข้อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการแพทย์ไทยและยกระดับการสาธารณสุขไทย ดังนั้น การนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสนับสนุนบูรณาการร่วมกันเพื่อให้เกิดการวิจัย พัฒนาต่อยอด ยกระดับมาตรฐาน จะช่วยยกระดับภูมิปัญญาดั้งเดิมให้ก้าวสู่ระดับสากลได้

ศ.นพ.กีรติ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมงานวิจัยนำความเชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อมาบูรณาการกับศาสตร์การแพทย์แผนไทย ศาสตร์การแพทย์ทางเลือก ศาสตร์การนวดบำบัดรักษา ศาสตร์การปรับโครงสร้างร่างกายแบบองค์รวม การใช้สมุนไพรในการรักษาทั้งยาใช้ภายนอก อาทิ ครีมไพล เจลพริก ยาประคบ ยาใช้ภายใน อาทิ ยาเถาวัลย์เปรียง ตำรับสหัศธารา ต่อยอดไปถึงการพัฒนายาสมุนไพร ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถช่วยลดภาระในระบบสาธารณสุข และเพิ่มทางเลือกการรักษาที่ปลอดภัยและยั่งยืนแก่ผู้ป่วย โดยพร้อมสนับสนุนพัฒนาต่อยอดสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการดูแลรักษาประชาชน เลือกใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมและคุ้มค่าที่สุด

รศ. พ.ต.ต. นพ.ธงชัย กล่าวว่า สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย มีพันธกิจ คือการเผยแพร่ความรู้ เกี่ยวกับโรคทางออร์โธปิดิกส์แก่ประชาชน เพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจในโรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูก ข้อต่อ กล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหว พร้อมทั้งมีแนวทางในการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง ลดความเสี่ยงและป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยมุ่งมั่นที่จะนำความรู้ทางการแพทย์ รวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ร่วมกับภูมิปัญญาไทย เช่น การใช้สมุนไพรไทยในกระบวนการฟื้นฟูสุขภาพ และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วย เพื่อนำไปสู่การดูแลสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป