โรคตาแดงในเด็ก
โรคตาแดง เป็นโรคที่สามารถพบได้ตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก สามารถติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็ว ผู้ปกครองควรใส่ใจเรื่องสุขอนามัยของบุตรหลานอย่างสม่ำเสมอ รักษาความสะอาด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคตาแดงหรือโรคเยื่อบุตาอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อที่เยื่อบุตา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อไวรัส เช่น กลุ่มอาดิโนไวรัส (Adenovirus) แต่บางครั้งอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อปรสิตได้เช่นกัน การติดเชื้อสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย โดยส่วนใหญ่จะติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำตา ขี้ตา ฝุ่นละอองในอากาศ แหล่งน้ำในที่สาธารณะ เป็นต้น โรคตาแดงพบได้ตลอดทั้งปี ทำให้เกิดการติดต่อได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งสามารถหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ หากได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี หรือรีบพามาพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการ แนะพ่อแม่ดูแลสุขอนามัยของลูก ๆ อยู่เสมอ
นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคตาแดงมักเริ่มมีอาการ 1-2 วันหลังได้รับเชื้อ โดยอาการหลักได้แก่ ตาแดง ตาบวม มีน้ำตาไหล และรู้สึกเจ็บเคืองตา มีขี้ตาหรือเมือกในดวงตามากกว่าปกติ มักเริ่มจากตาข้างหนึ่งก่อนและอาจลามไปยังอีกข้างได้ ระยะเวลาของโรคจะมีอาการอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ และหายได้เองหากไม่มีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม
สาเหตุเกิดจาก ผู้ที่ได้รับเชื้อไปสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อในที่ต่างๆ เช่น จับราวบันได ลูกบิดประตู รวมถึงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรง การใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า หมอน หรือผ้าเช็ดตัว สาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ การสัมผัสเชื้อโรคจากแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด เช่น สระว่ายน้ำ หรือฝุ่นละอองที่มากับอากาศในช่วงฤดูฝน พ่อแม่ผู้ปกครองควรหมั่นดูแลเด็ก ๆ ให้ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาด เมื่อสัมผัสหรือจับสิ่งของในที่สาธารณะ ไม่ควรใช้มือสัมผัสดวงตา หรือขยี้ตาโดยตรง ควรแยกของใช้ส่วนตัวของผู้ป่วยไม่ใช้สิ่งของปะปนร่วมกัน หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในสระที่ไม่สะอาด
วิธีการรักษา รักษาตามอาการของโรค เนื่องจาก โรคตาแดงที่เกิดจากเชื้อไวรัสยังไม่มียารักษาเฉพาะ แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะชนิดยาหยอดหรือยาป้าย หากสงสัยการติดเชื้อแบคทีเรียร่วม พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรนอนดึก เพื่อลดการใช้สายตาในช่วงที่มีอาการตาแดงอย่างรุนแรง ไม่จำเป็นต้องปิดตา เว้นแต่กรณีมีอาการเคืองตามาก หรือสงสัยว่ามีกระจกตาอักเสบ หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป