"พิพัฒน์"จ่อเสนอ ครม. ขยายเวลาต่ออายุแรงงานต่างด้าว

2024-12-26 20:33:08

"พิพัฒน์"จ่อเสนอ ครม. ขยายเวลาต่ออายุแรงงานต่างด้าว

Advertisement

"พิพัฒน์"จ่อเสนอ ครม. ขยายเวลาต่ออายุแรงงานต่างด้าว ประเมินแล้วทำไม่ทันภายใน ก.พ.68  

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งมีการพิจารณากระทู้ถามสด นายสหัสวัต คุ้มคง ส.ส.ชลบุรี พรรคประชาชน ถามนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เรื่อง การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ที่เปิดให้มีการยื่นเอกสารต่ออายุใบอนุญาตทำงานตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 ก.ย.67 ที่ผ่านมา ในลักษณะ MOU ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะต้องเสร็จภายในวันที่ 13 ก.พ.68 เหลือเวลาอีก 32 วัน แต่เรามีแรงงานที่ต้องต่ออายุประมาณ 2.39 ล้านคน เป็นแรงงานเมียนมาคร่าวๆ 2 ล้านคน จึงอยากทราบว่า ตอนนี้มีคนลงทะเบียนมาแล้วเท่าไหร่และในกรอบเวลาที่เหลืออยู่ จะคิดว่าทันหรือไม่

นายพิพัฒน์  ชี้แจงว่า การลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 4.9 แสนราย เมื่อถึงรอบการต่ออายุแรงงาน วันที่ 13 ก.พ.68 หากลงทะเบียนไม่ครบ ตนต้องนำเรื่องหารือกับกรมการจัดหางานและเสนอ ครม.เพื่อขยายเวลาต่อใบอนุญาต ซึ่งการต่อนั้น จะอำนวยความสะดวกไม่ให้ผู้ใช้แรงงานกลับไปในต่ออายุที่ประเทศของตนเอง เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว แต่หากไม่ทันจะยืดอายุให้ ส่วนนายจ้างตามบ้านนั้นสามารถลงทะเบียนและยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่หากไม่สะดวกให้ยื่นผ่านกรมการจัดหางานทั้ง 76 จังหวัดและกทม. ซึ่งสามารถทำได้ในช่วงวันหยุด

นายพิพัฒน์ ชี้แจงต่อว่าขั้นตอนของการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติ รวมถึงการตรวจเช็คร่างกายที่โรงพยาบาลซึ่งตั้งข้อสังเกตว่ามีจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อการใช้บริการในกรอบเวลาที่กำหนด สามารถทำได้ทัน ทั้งนี้ที่ตั้งข้อสังเกตว่าโรงพยาบาลให้บริการไม่มากนั้น เพราะต้องคัดเลือกโรงพยาบาลที่มีห้องแล็บเพื่อไม่ให้โรคระบาดหลุดรอดมาในประเทศ ซึ่งจาการตรวจเช็คแรงงานชาวเมียนมาร์ที่พบการระบาดของเชื้อโรคอหิวาตกโรคนั้น ล่าสุดพบว่ามีรายงานพบผู้ป่วยในประเทศไทยแล้ว 4 คน ทั้งนี้ยอมรับว่าการกำหนดโรงพยาบาลตรวจร่างกาย 69 แห่ง กับจำนวนแรงงานที่ต้องใช้บริการ 2.3ล้านราย และในระยะเวลา 32 วัน คงเป็นไปไม่ได้ทำทัน ส่วนที่ต้องตั้งศูนย์ลงทะเบียน ที่ เชียงใหม่ กรุงเทพ และระนอง เป็นข้อเสนอของรัฐบาลเมียนมา เราไม่สามารถกำหนดได้ แต่หากให้ผมกำหนด จะเสนอให้จังหวัดใดที่มีแรงงานต่างด้าวเกิน 1,000 คน จะกำหนดให้จังหวัดนั้นเป็นศูนย์ ซึ่งเข้าใจว่าที่รัฐบาลเมียนมาต้องกำหนดดังกล่าวเพราะมีปัญหาเรื่องเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีกำลังพอ

นายสหัสวัต ตั้งคำถามต่อว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าในกรณีที่รัฐบาลไทยทำเอ็มโอยูกับรัฐบาลทหารเมียนมา และมีการเก็บภาษีให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา ถือว่ารัฐบาลไทย เป็นหนึ่งเดียวกับรัฐบาลทหารพม่าหรือไม่ เพราะ เก็บภาษีให้รัฐบาลทหารเมียนมาถึงปีละ 9,000 ล้านบาท และด้วยการจำกัดศูนย์ลงทะเบียน และไม่เปิดออนไลน์เชื่อว่าทำให้แรงงานข้ามชาติหนีเอ็มโอยู และหลุดออกนอกระบบจำนวนมาก ทั้งนี้มีข้อเสนอให้รัฐบาลไทยขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียว ไม่ต้องให้รัฐบาลทหารเมียนมา ที่เป็นรัฐล้มเหลวเข้ามายุ่งเกี่ยว

รมว.แรงงาน ชี้แจงว่า การเก็บภาษีไม่ได้เริ่มเก็บในช่วงนี้ แต่มีการเก็บเพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์ หรือ ซีไอ อย่างไรก็ดีหากไทยทำฝ่ายเดียวจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าเป็นชาติเมียนมา สำหรับขั้นตอนและรายละเอียดอื่นๆ จะขอชี้แจงเป็นหนังสือต่อสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง