นิ้วล็อก
นิ้วล็อก (trigger finger) เป็นอาการที่ทำให้นิ้วมือขยับลำบากหรือล็อกค้าง ทำให้เกิดความเจ็บปวดและไม่สะดวกในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การจับสิ่งของหรือพิมพ์งาน ซึ่งโรคนี้พบบ่อยในคนที่ใช้งานมืออย่างหนัก เช่น ช่างฝีมือ พนักงานออฟฟิศ หรือผู้สูงอายุ บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับ สาเหตุ อาการ และวิธีแก้ไขนิ้วล็อก ในทุกระยะอย่างละเอียด เพื่อให้คุณสามารถดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้องและป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โรคนิ้วล็อก คือ
นิ้วล็อก (trigger finger) คืออาการที่เกิดขึ้นเมื่อเส้นเอ็นของนิ้วมือมีการอักเสบหรือตีบตัน ทำให้เส้นเอ็นขยับผ่านปลอกหุ้มเส้นเอ็นได้ยาก เวลาขยับนิ้วอาจรู้สึกเหมือนมีการ “คลิก” หรือ “กระตุก” และบางครั้งนิ้วจะล็อกค้างอยู่ในท่ากำหรืองอ การขยับกลับมาตรงจะต้องใช้แรงช่วยหรือมีความเจ็บปวดร่วมด้วย
สาเหตุของอาการนิ้วล็อก
สาเหตุ ของอาการนิ้วล็อก มาจากการใช้งานของมือและนิ้วมือมากและระยะเวลานาน หรือบุคคลที่ต้องทำงานโดยการกำมือแน่น ๆ เป็นประจำ จนทำให้เกิดการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นบริเวณโคนนิ้ว โดยตัวอย่างลักษณะงานที่พบเจอได้บ่อย เช่น
-พนักงานออฟฟิศที่พิมพ์งานติดต่อกันเป็นระยะนานติดต่อกันหลายชั่วโมง
-แม่บ้านที่ต้องซักผ้าและบิดผ้าบ่อย ๆ
-ถือถุงชอปปิ้งที่ต้องมีการกำมือแน่นระหว่างการหิ้วของหนัก
-นักกีฬาที่ต้องใช้การจับอุปกรณ์ที่แน่น ๆ เช่น เทนนิส แบดมินตัน เป็นต้น
-คนที่ชอบเล่นมือถือ แลปท็อป ที่ต้องใช้การจับมือถือให้มั่นคงอยู่ในมือ เพื่อไม่ให้มือถือหลุดจากมือ
อาการของนิ้วล็อกสามารถแบ่งเป็น 4 ระยะตามความรุนแรง
อาการนิ้วล็อกระยะที่ 1 มีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือเวลาขยับ แต่ยังไม่มีการสะดุดระหว่างการเคลื่อนไหวนิ้ว ในช่วงแรกจะรู้สึก ตึงและเจ็บเล็กน้อย บริเวณโคนของนิ้วมือ โดยเฉพาะเวลาที่งอนิ้วหรือตื่นนอนตอนเช้า อาการนี้มักจะหายไปเมื่อพักมือ
อาการนิ้วล็อกระยะที่ 2 เริ่มมีอาการติดขัดขณะขยับนิ้ว และบางครั้งอาจรู้สึกว่ามีเสียง “คลิก” ระหว่างที่งอและเหยียดนิ้ว เวลาล็อกยังสามารถดึงกลับมาได้ด้วยตัวเอง
อาการนิ้วล็อกระยะที่ 3 นิ้วติดล็อก แต่ยังสามารถเหยียดออกได้โดยการใช้มืออีกข้างช่วยแกะ
อาการนิ้วล็อกระยะที่ 4 ในระยะสุดท้าย นิ้วล็อกค้างอย่างถาวร ไม่สามารถขยับได้เองและมีอาการปวดตลอดเวลา อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง
การรักษา
การรักษานิ้วล็อกสามารถแบ่งตามความรุนแรงของอาการ โดยวิธีการรักษาในแต่ละระยะจะต่างกันไป
การรักษาโรคนิ้วล็อกระยะ 1-2 ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดและเจ็บเวลาขยับนิ้ว มักเริ่มต้นด้วยการทานยาแก้ปวด และพักการใช้งานของนิ้ว การปรับขนาดที่จับให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ผ้าพันรอบด้ามอุปกรณ์กีฬาให้หนาขึ้น หรือเปลี่ยนการถือถุงชอปปิงมาเป็นการใช้กระเป๋าสะพายหลัง นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาสั่งอุปกรณ์ดามนิ้ว เพื่อป้องกันการใช้งานของนิ้ว นอกจากนี้การรักษาด้วยเครื่องมือทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูยังมีส่วนช่วยในการรักษาได้ค่อนข้างดี เช่น การแช่น้ำอุ่นวันละประมาณ 10-20 นาที และขยับเบา ๆ ในขณะแช่ การใช้เครื่องอัลตราซาวน์ เลเซอร์ หรือคลื่นกระแทก (extracorporeal shockwave) ก็สามารถช่วยลดการปวดและอักเสบได้
การรักษาโรคนิ้วล็อกระยะ 3-4 แพทย์อาจพิจารณาการฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ หรืออาจพิจารณาผ่าตัดปลอกหุ้มเอ็นที่หนาตัวให้เปิดขยายขึ้น และทำให้เส้นเอ็นขยับได้คล่องตัวมากขึ้น
นิ้วล็อก เป็นปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ใช้งานมืออย่างหนักเป็นประจำ หากเริ่มมีอาการควรหาวิธีแก้อาการนิ้วล็อก ทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลง การรักษาในระยะเริ่มต้นมักได้ผลดีและไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่หากปล่อยไว้นานจนเข้าสู่ระยะรุนแรงอาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดอย่างจริงจัง เพื่อให้คุณสามารถกลับมาใช้งานนิ้วได้อย่างปกติ
ผศ. ดร. นพ.ไพฑูรย์ เบ็ญจพรเลิศ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล