รมว.สธ.สั่งจัดตั้งศูนย์ปฎิบัติการฉุกเฉิน จ.ตาก ช่วยผู้ป่วยอหิวาต์ พร้อมมอบกรมการแพทย์ส่งสารน้ำสำหรับการรักษาโดยเร่งด่วน
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.67 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมวซสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์อหิวาตกโรค ที่เมืองฉ่วยโก๊กโก่ จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา ทำให้ จ.ตากกลายเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากอยู่ตรงข้ามกับเมืองฉ่วยโก๊กโก่ มีโรงงานจำนวนมาก และมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ร่วมกัน จึงได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ส่วนหน้า จ.ตาก เพื่อยกระดับการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อหิวาตกโรค โดยมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก เป็นศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมพร้อมและดำเนินการ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน โดยได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ส่งสารน้ำสำหรับการรักษาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่จังหวัดตากโดยเร่งด่วน
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า พร้อมให้การสนับสนุนทีมปฏิบัติการช่วยสอบสวนโรคและวางแนวทางการป้องกันควบคุมโรคในฝั่งเมียนมา เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดมายังประเทศไทย และเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค โดยให้ความรู้การป้องกันโรคแก่ชาวเมียนมา เฝ้าระวังคนไทยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการท้องเสียหรืออุจจาระร่วง ซึ่งอหิวาตกโรค เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหารจากแบคทีเรียชนิดเฉียบพลัน ติดต่อ โดยรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้ออหิวาต์วิบริโอ ผู้ป่วยจะมีอาการ หลัง ได้รับเชื้อ ประมาณ 12-72 ชม . เริ่มจากอาการไม่สบายในท้อง บางรายมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำอย่างมาก ร่วมกับมีคลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียน้ำอย่างรวดเร็วจนเกิดภาวะเป็นกรดในเลือด และการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ถ้ามารับการรักษาช้า
ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคนี้เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ จำนวนเชื้อที่ได้รับ ภาวะกรดในกระเพาะอาหาร และหมู่เลือดกรุ๊ปโอ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง ร้อยละ 75 ของผู้ที่ได้รับเชื้อพบว่า อาจไม่มีอาการ ร้อยละ 20 มีอาการอุจจาระร่วงไม่รุนแรง แยกไม่ได้จากอาการอุจจาระร่วงที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ในรายที่รุนแรงจะมีการถ่ายเป็นน้ำเฉียบพลันจำนวนมาก อาเจียน อาจเจ็บบริเวณหน้าท้องเพราะเป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อหน้าท้อง ส่วนใหญ่ไม่มีไข้ ลักษณะอุจจาระมักเป็นน้ำใส หรือมีมูกแขวนลอยจำนวนมาก หรือมีสีขาวเหมือนน้ำซาวข้าว มีกินคาวปลา ถ้าไม่ได้ไม่ได้รับการทดแทนด้วยสารน้ำ Oral Rehydration Solution (ORS) เกิดภาวะ ขาดน้ำอย่างรวดเร็วอาจถึงช็อค จะมีอาการกระหายน้ำชีพจรเบาเร็ว กระสับกระส่าย หรือซึม
ทั้งนี้ กรมการแพทย์ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง นำโดยนายแพทย์รวินท์ อิงศิโรรัตน์ ส่งมอบสารน้ำ ทั้งหมด 4 รายการ รวมจำนวน 4000 ถุง เพื่อใช้ทางการแพทย์แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก เพื่อใช้ในการรักษาประชาชนจังหวัดในพื้นที่ชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะขาดน้ำ ผู้ป่วยที่กินอาหารและน้ำไม่ได้ หรือไม่เพียงพอ หรือมีอาการท้องเสียอย่างผิดปกติ แพทย์ผู้รักษาต้องชดเชยเกลือและน้ำให้ในปริมาณที่กำหนด เพื่อชดเชยเกลือให้พอเพียงกับส่วนที่เสียไปแล้ว โดยมีการให้สารน้ำในอัตราที่เหมาะสมทันท่วงที จะช่วยชีวิตละลดอัตราการป่วยหนักได้
การรักษาผู้ป่วยอหิวาตกโรค ที่มีอาการรุนแรง คือการแก้ไขภาวะขาดน้ำ โดยให้กินเกลือแร่ป้องกันการขาดน้ำและอาหาร การรักษาจำเพาะด้วยยาปฏิชีวนะ ทำลายเชื้อในลำไส้ แนะนำรักษาความสะอาดให้ถูกสุขลักษณะ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่เสมอ เด็กเล็กควรได้รับนมแม่เพื่อช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรคได้ ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ กำจัดสิ่งปฏิกูลอย่างถูกสุขลักษณะ แนะนำ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคได้