ทีมวิจัยกรมอุทยานฯและนักกีฏวิทยา มหาวิทยาลัยยุยตัน เวียดนามค้นพบแมลงชนิดใหม่ของโลก "แมลงปอเข็มท้องเข็มสังขละ"
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.67 นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานแถลงข่าว "รายงานการพบแมลงชนิดใหม่ของโลก แมลงปอเข็มท้องเข็มสังขละ (Prodasineura sangkhla) โดยมี ดร. แก้วภวิกา จิตธรรมมา อิกเนเชียส นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ กรมอุทยานแห่งชาติฯ และ ดร.ทศพล แซ่ตั้ง กีฏพิชญกุล นักกีฏวิทยาจากศูนย์วิจัยแมลงและปรสิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยยุยตัน (Duy Tan University) ประเทศเวียดนาม ที่ได้ร่วมศึกษาการพบแมลงปอชนิดใหม่ของโลก จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการ (H.A. Slade) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
นายวีระ กล่าวว่า สำหรับแมลงปอเข็มชนิดใหม่ Prodasineura sangkhla (แมลงปอเข็มท้องเข็มสังขละ) นี้ พบที่น้ำตกตะเคียนทอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี บริเวณใกล้ชายแดนไทย – พม่า โดยแมลงปอเข็มชนิดใหม่นี้อยู่ในสกุล Prodasineura หรือเรียกว่าสกุล แมลงปอเข็มท้องเข็ม "สังขละ (sangkhla)” คือ ชื่อชนิดใหม่ (New species) ซึ่งการตั้งชื่อชนิด (species) ครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเน้นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ โดยชื่อ "sangkhla" ได้รับการตั้งตามชื่อ อ.สังขละบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบแมลงปอชนิดนี้ คำว่า "สังขละ" มีรากศัพท์จากภาษาไทยและภาษาพม่า หมายถึง "ความหลากหลาย" หรือ "การผสมผสาน" ซึ่งสะท้อนถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมในอำเภอสังขละบุรี เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนหลากหลายวัฒนธรรม เช่นเดียวกับการเป็นแหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด โดยเฉพาะแมลงปอเข็มในสกุลหางเข็ม (Prodasineura) ที่พบในพื้นที่นี้จำนวนมากถึง 4 ชนิด ได้แก่ Prodasineura autumnalis (แมลงปอเข็มท้องเข็มดำ) P. laidlawii (แมลงปอเข็มท้องเข็มเอราวัณ) Prodasineura sp. (แมลงปอเข็มท้องเข็มส้ม) และชนิดใหม่ที่รายงานครั้งนี้ จากรายงานการพบแมลงปอเข็มในสกุลนี้ทั้งหมด 6 ชนิดในประเทศไทย แมลงปอเข็มท้องเข็มสังขละสามารถจำแนกชนิดจากแมลงปอเข็มท้องเข็มชนิดอื่น ๆ จากลักษณะดังนี้ เพศผู้ อกและส่วนท้องมีสีขาว ส่วนปลายท้องและรยางค์ปลายท้องสีฟ้า เพศเมีย อกส่วนหน้า (Prothorax) มีโครงสร้างคล้ายเขาที่เป็นลักษณะเฉพาะ สามารถแยกได้จากแมลงปอสกุลเดียวกัน และมีแถบขาวบนส่วนหัว (Vertex) และลวดลายที่อกส่วนหน้า (Pronotum) บทบาททางนิเวศวิทยาของแมลงปอเข็มคือ การเป็นตัวห้ำ ช่วยควบคุมประชากรแมลงขนาดเล็ก และเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพที่ดีของลำธาร การพบแมลงปอเข็มครั้งนี้จึงแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติและระบบนิเวศ
นายวีระ กล่าวอีกว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีภารกิจสำคัญในการอนุรักษ์และฟื้นฟูความสมบูรณ์ของผืนป่าอนุรักษ์ โดยมีการดำเนินงานเชิงอนุรักษ์อย่างเป็นระบบโดยเฉพาะพื้นที่อนุรักษ์สำคัญ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของแมลงปอเข็มท้องเข็มสังขละและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงมีมาตรการเพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศและถิ่นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่เปราะบาง โดยเฝ้าระวังการบุกรุกป่า การตัดไม้ทำลายป่า และการลักลอบล่าสัตว์ป่า โดยการจัดตั้งหน่วยพิทักษ์ป่าซึ่งมีภารกิจลาดตระเวนเพื่อปกป้องพื้นที่ป่าอย่างเข้มงวด และนอกจากนี้ยังได้สนับสนุนการศึกษาวิจัยความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตและการรักษาระบบนิเวศในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งการค้นพบแมลงปอเข็มท้องเข็มสังขละครั้งนี้จึงเป็นผลลัพธ์จากการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยของกรมอุทยานฯ และนักวิจัยภายนอกทั้งในและต่างประเทศ การศึกษาวิจัยนี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการวางแผนอนุรักษ์พื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติในระยะยาว อีกทั้งยังได้ให้ความรู้แก่ชุมชนท้องถิ่นเกี่ยวกับความสำคัญของผืนป่า ระบบนิเวศ ไปพร้อมกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่จะสร้างรายได้และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ เพื่อเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน